ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566

ความยากจนครัวเรือนไทย จะให้หลุดพ้นได้อย่างไร (Breaking the Cycle of Poverty in Thai Family)

ความเหลื่อมล้ำในไทย มีมานาน แล้วต้องแก้กันที่ตรงไหน

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับตัวดีขึ้นแต่เกิดจากเหตุผลที่ไม่ยั่งยืน ในมุมมองระยะยาว แต่เกิดจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐและเงินโอนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งไม่ยั่งยืนและไม่สะท้อนผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของแรงงานโดยตรง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

Credit Suisse ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008-2018

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยในความเป็นจริง อาจสูงกว่าตัวเลขทางการ ตัวเลขความเหลื่อมล้ำไทยทางด้านรายได้ มักอ้างอิงจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีความครบถ้วนที่สุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในแบบสำรวจมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนรายได้น้อยและไม่รวมคนรายได้สูงทำให้เลขความเหลื่อมล้ำต่ำกว่าความเป็นจริง

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโตแบบไม่ทั่วถึง รวยกระจุกจนกระจาย ในมิติการเติบโตของรายได้ ข้อมูลสะท้อนภาพชัดเจนว่ากลุ่มคนรายได้สูงมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเร็วกว่าคนรายได้น้อย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำที่สูงเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยเชิงนโยบาย และโครงสร้างเศรษฐกิจ คือ

1) ความเหลื่อมล้ำลดลงแต่กลับเร่งขึ้นอีกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากคนไทยสัดส่วนกว่า 31% ทำงานอยู่ในภาคเกษตรเมื่อการเติบโตของรายได้อยู่ในระดับต่ำทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น

2) ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในมิติของโอกาสทางการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพแตกต่างกันมาก

สิทธิแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ กำไรที่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ทำให้รายเล็กแข่งขันยาก และภาครัฐยังขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ

3) เหตุการณ์โควิด-19 จะยิ่งทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำแย่ลงกว่าเดิม โควิดกระทบรายได้ของกลุ่มฐานของพีระมิดรุนแรงกว่ากลุ่มบน แรงงานนอกระบบมีจำนวนมาก ขาดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งพอ ระบบคุ้มครองทางสังคมของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบในระดับสากล

4) ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง

นอกจากปัจจัยเหล่านี้ ยังพบว่า  “การเมือง” ยังเป็นหนึ่งในรากลึกของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

การขาดกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในผลพวงที่เกิดจากสถาบันการเมืองที่มีลักษณะไม่เชื่อมโยงกับความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (Accountability)

ผลลัพธ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากระบบการเมืองที่ขาดประสิทธิภาพของไทย คือ

1) เสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบการทำงานของรัฐ ที่ไทยอยู่ลำดับที่ 113 จาก 141 ประเทศ

2) ด้านความปลอดภัยของประชาชนและการคอร์รัปชั่นได้คะแนนที่ค่อนข้างต่ำ

3) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ดีนัก

4) กฎหมายกำกับการแข่งขันที่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่

KKP Research ประเมินว่าหัวใจหลักของการแก้ปัญหานี้อยู่ที่การแก้ไขกลไกในระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในด้านโอกาส

กลไกลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1) กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม สร้างเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันบนความเท่าเทียม

2) กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง โดยใช้ระบบภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า

3) กลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา บริการทางสาธารณสุข สินเชื่อ ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งการมีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ที่เข้มแข็ง

4) กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง

5) กลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง โดยมีการจัดสรรทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการคลังไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างเหมาะสม

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/216226

ใส่ความเห็น