ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565

จิตใจที่ดี ในร่างกายที่สมบูรณ์ (Sound mind in Sound body)

ดูแลตนเองอย่างไรให้สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ

สุขภาพกาย หมายถึง สภาพของร่างกายที่มีความแข็งแรง สมบูรณ์ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพ ต้านทานโรคได้ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บหรือความทุพพลภาพ

สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะทางจิตใจมีความสดชื่น แจ่มใส สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ตลอดจนสามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ ปราศจากความขัดแย้งหรือความสับสนภายในจิตใจ

การมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจที่ดีมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อันจะนำมาซึ่งความสุขในชีวิตที่ทุกคนปรารถนา เพราะการมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงย่อมส่งผลให้จิตใจสดชื่น เบิกบาน ในทางตรงข้าม หากร่างกายที่ไม่แข็งแรงก็ย่อมส่งผลให้จิตใจห่อเหี่ยว มีแต่ความกังวล และนี่คือวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ที่จะนำมาซึ่งสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ

1. เลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ
อาหารที่มีประโยชน์เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดี การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สด สะอาดให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

2.ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8–10 แก้ว
อย่างที่ทราบกันดีว่าร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 70 การดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากน้ำเป็นตัวกลางในการเกิดปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดตั้งแต่กระบวนการการย่อยอาหาร กระบวนการดูดซึมอาหาร และกระบวนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย หากขาดน้ำ ร่างกายอาจทำงานผิดปกติได้

3.หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายมีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เพราะทำให้หัวใจ กล้ามเนื้อ ปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตและระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphins) หรือสารแห่งความสุข

4.นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ร่างกายต้องการการพักผ่อนอย่างน้อย  6-8 ชั่วโมงขึ้นกับช่วงอายุ ในขณะนอนหลับเป็นช่วงที่ร่างกายจะได้พักผ่อน ฟื้นฟู และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนเป็นช่วงที่ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนต่อต้านการแก่ชรา การขาดการนอนหลับทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ และอาจทำให้ดูแก่ก่อนวัยได้

5.บริหารและบำรุงสมองอย่างต่อเนื่อง
สมองเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากรับหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบและอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด การบริหารสมองไม่ว่าจะเป็นการเล่นหมากรุก เกมอักษรไขว้ เกมจับผิดภาพ เกมจำตำแหน่งภาพจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพสมองที่ดี นอกจากนี้อาจรับประทานสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมองอย่างน้ำมันปลาและวิตามินบีร่วมด้วยเพื่อช่วยในการหมุนเวียนเลือดและลดอาการหลงลืม

6.ฝึกการปล่อยวาง
จิตใจที่เป็นทุกข์ย่อมนำมาซึ่งความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก การมองโลกในแง่ดี ปล่อยวางจะช่วยให้จิตใจสงบและไม่จมอยู่กับความทุกข์ อาจเริ่มจากการนั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 5-10 นาทีเพื่อพิจารณาสิ่งที่ผ่านเข้ามาชีวิต เมื่อฝึกได้ระยะหนึ่ง เราก็จะสามารถควบคุมสติ อารมณ์ มีมุมมองต่อโลกในแง่ดีขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต และห่างไกลจากโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า

7.เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

การตรวจสุขภาพถือเป็นการลงทุนเบื้องต้นสำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาว โดยจะช่วยตรวจหาโรคที่แอบแฝงและป้องกันความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจเกิดขึ้น ยิ่งหากพบความผิดปกติเร็วขึ้นเท่าไร ก็จะช่วยให้รักษาได้เร็วขึ้นเท่านั้น แม้เพียงแค่ตรวจพบความเสี่ยง เราก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตให้ถูกต้องได้ ทุกคนจึงควรเข้ารับบริการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีโดยมีแนวทางการตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ ดังนี้

  • วัยทำงาน (อายุ 19-39 ปี)

เป็นวัยที่โรคร้ายต่าง ๆ จะเริ่มแสดงออกอย่างชัดเจน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และเน้นไปที่การตรวจหาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคอ้วน โรคมะเร็งต่าง ๆ เป็นต้น โดยผู้หญิงควรจะเน้นการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ผู้ชายควรเน้นการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก

  • วัยกลางคน (อายุ 40-59 ปีขึ้นไป)

เป็นวัยที่โรคร้ายต่าง ๆ จะเริ่มแสดงออกอย่างชัดเจน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และเน้นไปที่การตรวจหาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคอ้วน โรคมะเร็งต่าง ๆ เป็นต้น โดยผู้หญิงควรจะเน้นการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ผู้ชายควรเน้นการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก

  • วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

เป็นวัยที่อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมถอย จึงควรเน้นการตรวจการทำงานของร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากสภาพที่ถดถอยของอวัยวะอย่างหัวใจ ไต สมอง อวัยวะในช่องท้อง คัดกรองมะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ รวมถึงตรวจมวลกระดูก แม้การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้มั่นใจได้ถึงการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แต่หากต้องไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอเช่นกัน ซึ่งการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีย่อมนำมาซึ่งความสุขในชีวิตได้ไม่ยาก

ที่มา : ดูแลตนเองอย่างไรให้สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ – บริษัท เมดิคอลไลน์ แล็บ จำกัด บริการตรวจสุขภาพประจำปี (medicallinelab.co.th)


5 วิธีดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง เราจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองไม่ให้ได้รับเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย หรือเว้นระยะห่างทางสังคม และไม่อยู่ในสถานที่ปิดหรือบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นวิธีเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพกายของเรา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า “สุขภาพจิต” ของเรา ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

หลายคนมีความจำเป็นที่จะต้องออกจากงาน หรือจำเป็นที่จะต้องทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) นักเรียนหรือนักศึกษาในพื้นที่เสี่ยง ต้องเรียนออนไลน์ หรือต้องออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาทางการเงิน ไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ก็ล้วนแล้วแต่สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความเครียด และสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคซึมเศร้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตไม่แพ้โรคระบาดเลย

1. เริ่มต้นรักษาสุขภาพใจ ด้วยการรักษาสุขภาพกาย

การดูแลสุขภาพจิต อาจเริ่มต้นจากการทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่ว่าจะโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การไม่มีโรคประจำตัว หรืออาการป่วยที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการมีสุขภาพจิตที่ดี \

2. ลดหรืองดการเสพสื่อที่อาจสร้างความกังวลและบั่นทอนจิตใจ

การรับรู้ข่าวสาร และอัปเดตเรื่องราวในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเราใช้เวลากับสื่อต่าง ๆ มากเกินไป และรับแต่เนื้อหาเชิงลบ หรือเนื้อหาที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ก็อาจส่งผลให้เรารู้สึกเครียดมากขึ้น ดังนั้น หากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการเครียด การลดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย หรือรับสื่อต่าง ๆ อาจช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นไม่มากก็น้อย

3. พูดคุยถึงปัญหาและเรื่องราวต่าง ๆ กับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก

หากเรามีปัญหา หรือความเครียดสะสมในใจ การได้ระบายออกมา อาจสามารถช่วยคลายความกังวลหรือความเครียดลงได้บ้าง และเราอาจได้รับข้อคิด หรือความคิดดี ๆ จากคนรอบตัวอีกด้วย

4. ลด หรือไม่พึ่งการใช้บุหรี่ สุราหรือสารเสพติด เพื่อจัดการความเครียด

บุหรี่ สุรา และสารเสพติดชนิดอื่น ๆ อาจช่วยลดความเครียดได้จริงสำหรับใครหลายคน แต่อย่างไรก็ตาม ความเครียดดังกล่าว จะหายไปแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สิ่งที่อยู่กับเราต่อ คือผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว ดังนั้น เราไม่ควรพึ่งพาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรลดปริมาณหรือความถี่ลง แล้วหันมาดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองด้วยวิธีอื่น ที่ไม่กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

5. หากคุณเริ่มรู้สึกเครียดหรือกังวลจนหาทางออกไม่ได้จริง ๆ ควรปรึกษานักจิตวิทยา หรือเข้าพบจิตแพทย์

หากสถานการณ์เริ่มแย่ลง และไม่มีวี่แววว่าคุณจะจัดการกับความเครียดหรือความกังวลที่อยู่ในใจได้ด้วยตัวเอง และไม่มีคนในครอบครัว หรือคนรอบตัวช่วยได้ แนะนำให้เข้าปรึกษานักจิตวิทยา หรือเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อรับการดูแลสุขภาพจิตใจอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ที่มา : 5 วิธีดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 (kbkjclinic.com)


7 วิธีดูแลสุขภาพตัวเอง (ทั้งกายและใจ)


5 วิธีจัดการความเครียดง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้

ความเครียดเป็นสภาวะของอารมณ์ของคนที่ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดันหลายครั้งที่หลายคนมักจะเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนเรามักจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อเกิดความเครียดเราจะแสดงออกมาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม บางคนหงุดหงิดง่าย บางคนป่วยง่าย บางคนนอนไม่หลับ หากเรารู้วิธีจัดการ และบรรเทาความเครียดต่างๆ เหล่านั้นได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราพร้อมรับมือกับความเครียดได้มากขึ้น มาดูวิธีจัดการความเครียดง่ายๆ กันว่ามีอะไรบ้าง

1. ออกกำลังกาย คลายเครียด
Cortisol จะทำงานอย่างหนัก เราสามารถแก้ได้โดยการให้ฮอร์โมนเอนดอร์ฟีนทำงานบ้างด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อยๆ ถ้าเรารู้สึกตัวว่ากำลังเครียดอยู่ การได้ออกจากโต๊ะทำงานไปยืดเส้นสาย หรือเดินขึ้นลงบันไดอาจทำให้เราหลุดโฟกัสเรื่องเครียดสักพักหนึ่ง จริงๆ แล้วการออกกำลังกายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการออกแรงอย่างหนัก เหงื่อตกมากๆ แต่เป็นการออกกำลังกายที่ให้ผลทางสุขภาพจิต เพียงแค่เดินปกติสัก 10 นาที หันเหความสนใจไปในทางบวก ก็ได้ผลแล้ว แต่ถ้ามีเวลาหลังเลิกงานควรจะไปออกกำลังกายอย่างจริงจัง อย่างน้อยวันละ 30 นาที แค่ 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอให้ฮอร์โมนแห่งความสุขทำงานได้อย่างเต็มที่บ้าง

2. นั่งสมาธิ ฝึกจิต ลดเครียด
หากลองสังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกเครียด จะเหมือนมีก้อนความคิดบางอย่างวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งเมื่อมีความเครียดวิ่งวนอยู่ในหัวตลอดทำให้เราต้องคิดซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องเครียดนั้นๆ เราจะจัดการแก้ปัญหากับมันอย่างไรดี การจมอยู่กับความเครียดอาจทำให้เราไม่อยากทำอย่างอื่นเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาง่ายๆ เมื่อรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป ลองหาเวลาทำสมาธิ หรือสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกลมหายใจ ลองกำหนดลมหายใจเข้า – ออกง่ายๆ ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง เอาใจไปโฟกัสการกำหนดลมก็ทำให้เราลืมเรื่องเครียดๆ ไปได้ประมานหนึ่ง

3. จัดสรรเวลาในชีวิตประจำวัน
Work Life Balance เราได้ยินกันมานานแล้วแต่หลายคนยังคงไม่สามารถทำได้ นอกจากการจัดสรรเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดีจะช่วยให้ชีวิตส่วนตัวดีขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรี่องของการที่เราไม่เอาความเครียดต่างๆ ไปให้กับครอบครัวด้วย 8 ชั่วโมงการทำงานหลังจากนั้นควรจะหยุดคิดเรื่องงาน ไม่นำงานไปทำในขณะที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ให้โฟกัสกับเรื่องครอบครัว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบริหารความเครียดได้ดีเลยทีเดียว

4. ผ่อนคลายด้วยการดูหนัง ฟังเพลง
แม้ว่าเราจะจัดการปัญหาความเครียดต่างๆ ยังไม่ได้ทันที แต่การที่เราเอาตัวเองออกมาจากความเครียดได้สักพักหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีได้ทำตามใจตัวเองบ้าง เช่น การนอนดูหนัง ฟังเพลงสบายๆ หรือออกไปหากิจกรรมทำที่นอกจากการนั่งจมกับความคิดเครียดๆ แน่นอนว่าช่วยให้สมองปลอดโปร่งสักพัก และอาจทำให้เรากลับมาคิดแก้ไขปัญหาหรือเรื่องเครียดได้ด้วย

 5. ปรับเปลี่ยนความคิด
การจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัวได้ หรือถ้าหากเราจมอยู่กับความวิตกกังวลมากๆ ก็กลายเป็นความเครียดสะสม ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าความคิดสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคิดอย่างหนึ่งสมองก็จะตอบสนองไปตามนั้น หากเราตกอยู่ในภาวะเครียดเรื่องงาน สุขภาพ หรือเพื่อนร่วมงาน วิธีการคือให้เอาตัวเองออกจากความเครียดนี้ด้วยการลองปรับมุมมองปัญหาต่างๆ เอาตัวเองออกมายืนเป็นคนนอกดูบ้าง อาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขได้ง่ายกว่าการเอาตัวเองไปจมอยู่กับตรงนั้น หรือหากเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อย และยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของงานหรือเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ และหายเครียดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังน่าจะป้องกันตัวจากความทุกข์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย

เมื่อพยายามดูแลสุขภาพจิตแล้วก็ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพกายด้วยการรับประทานอาหาร และนอนหลับให้เพียงพอ ก็จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้น ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี สดชื่นแจ่มใส่ในทุกๆ วันฃ

ที่มา : 5 วิธีจัดการความเครียดง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้ | โรงพยาบาลเปาโล – Paolo Hospital


ที่มา : สุขภาพใจ.com – สุขภาพใจ.com (thaimentalhealth.com)

ใส่ความเห็น