ฉบับเดือนตุลาคม 2565

บ้านสำหรับทุกคน (Habitat for all)

ความสำคัญของคำว่า บ้าน

เราทุกคน ย่อมต้องอยากมีบ้านเป็นของตนเอง บ้านเป็นสถานที่ส่วนบุคคล ที่สร้างความสุข ความผ่อนคลาย และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในครอบครัว บ้าน ควรเป็นสถานที่แห่งความอบอุ่น เป็นที่ที่ทำให้คนในครอบครัวนึกถึง และอุ่นใจที่ได้อยู่ และเป็นแหล่งพักพิงที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากที่สุด

ความสำคัญของบ้าน มีดังนี้

1. เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นของคนเรา
เป็นที่เราได้ทำกิจกรรมจำเป็นในชีวิตของคนเรา ได้แก่ กิน นอน ขับถ่าย ชำระร่างกาย เล่น ใช้ฝึกทักษะ การทำงานบ้าน เป็นต้น

2. เป็นที่อยู่ที่ให้ความปลอดภัย
บ้านจะช่วยป้องกันแสงแดด ฝน อากาศ สัตว์ร้าย หรือบุคคลที่แปลกหน้าที่เราไม่ต้อง การให้มาเกี่ยวข้องเรา เราจึงอาศัยอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัย

3. เป็นศูนย์รวมของสมาชิกทุกคน
คนในบ้าน เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจต่างรุ่น ต่างวัย และมีความสัมพันธ์กันคือ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิท หรือบางบ้านอาจอยู่ร่วมกันกับเพื่อนสนิท หรือคนอื่นๆ

4. เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน
บ้านทุกหลังที่ก่อสร้างมานั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วย งานภาครัฐ เพื่อความเป็นระเบียบของชุมชน และทุกบ้านจะมีทะเบียนบ้านที่ระบุ เลขที่บ้านและสถานที่ตั้ง ตามกฎหมาย ตามระเบียบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองดี และเสริมสร้างความดีงามแก่จิตใจ

5. เป็นรากฐานของสังคม
เพราะบ้าน เปรียบเสมือนแหล่งบ่มเพาะอุปนิสัย ความประพฤติที่ดีงามให้กับคนในครอบครัว เพื่อให้เป็นประชากรที่ดีของสังคมต่อไป

ที่มา : ความสำคัญของคำว่า บ้าน | บ้านน่ารู้ (xn--q3cab2b7dc4c1gfh.com)


เหตุใดคนจึงไร้บ้าน

ชีวิตเราไม่เคยตรงไปตรงมา แผนการชีวิตผิดพลาดได้เสมอ ปัจจัยต่าง ๆ มากมายสามารถถาโถมเข้ามาในชีวิต ทั้งที่เราคาดถึงและคาดไม่ถึง และแปรเปลี่ยนชีวิตเรา ชีวิตของคนไร้บ้านก็เช่นกัน

ต่อไปนี้คือสาเหตุบางสาเหตุที่ส่งผลให้คนไร้บ้านได้

1.อาชีพไม่มั่นคง รายได้น้อย
คนจำนวนมากกลายมาเป็นคนไร้บ้านเพราะการงานอาชีพที่ไม่มั่นคงและรายได้น้อย เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจจึงไม่มีสิ่งใดมารองรับ ผลสำรวจจากงานวิจัยพบว่า คนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนมาเป็นคนไร้บ้านเคยประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคง เช่น เป็นพนักงานทำความสะอาด คนขับรถ กรรมกรและช่าง พนักงานโรงงาน และรับจ้างทั่วไป เป็นต้น 

2.ค่าที่อยู่อาศัยแพง ถูกไล่ที่หรือถูกยึดทรัพย์สิน
รายได้ที่ไม่เพียงพอ และราคาที่อยู่อาศัยที่แพงเกินไปส่งผลให้คนไร้บ้านได้ นอกจากนี้ คนบางคนกลายมาเป็นคนไร้บ้านเพราะถูกยึดที่อยู่ คนบางคนล้มป่วยและมีฐานะยากจนอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าบ้านขณะที่ป่วยไข้เป็นเวลายาวนาน ที่อยู่จึงถูกยึด และเมื่อไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้กับที่อยู่ใหม่ จึงต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน หรือราคาที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลให้คนบางคนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่อยู่เดิมซึ่งพุ่งสูงขึ้น จึงต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน

3.ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence)
การสำรวจเมื่อปี 2014 ใน 25 เมืองในอเมริกาพบว่า คนไร้บ้านร้อยละ 15 เคยเผชิญความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน การหนีจากความรุนแรงในครอบครัวเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงและวัยรุ่นกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ผู้ที่เคยเผชิญความรุนแรงมักตัดขาดจากคนใกล้ตัวที่ให้ความช่วยเหลือพวกเขาได้ เพราะพวกเขาพยายามจะหนีเอาชีวิตรอด ส่งผลให้กลายมาเป็นคนไร้บ้าน งานวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครก็พบว่า คนไร้บ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะกว่าร้อยละ 52 มีปัญหาด้านครอบครัวมาก่อน เช่น ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว หรือพ่อแม่เสียชีวิต ทำให้ไม่มีหลักพึ่งพิงและกลายมาเป็นคนไร้บ้าน

4.เปิดเผยตนกับครอบครัวว่าเป็น LGBTQ
กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเยาวชน มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เมื่อเยาวชนหลายคนเปิดเผยตัวกับครอบครัวว่าเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือคนข้ามเพศ และครอบครัวไม่ยอมรับ ในหลายครั้งครอบครัวก็ตัดขาดกับกลุ่มคนเหล่านี้และไล่พวกเขาออกจากบ้าน หลายคนไม่มีที่ไป จึงต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน

5.แยกทางกับคนรักหรือคนรักเสียชีวิต
การแยกทางกับคนรักเป็นเรื่องเจ็บปวด และเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นอีกสำหรับคนที่พึ่งพิงคนรักในเรื่องที่อยู่อาศัย คนบางคนอาศัยอยู่กับคู่รักและเมื่อความสัมพันธ์จบลงก็ไม่มีที่ไป หรือคนบางคนซึ่งพึ่งพิงคู่รักในการหารายได้มาเป็นเวลานาน เมื่อคู่รักเสียชีวิตลงจึงไม่มีที่พึ่งพิงและตนเองก็ไม่ได้มีหนทางในการหารายได้ จึงต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้านในที่สุด

6.ปัญหาสุขภาพกายและปัญหาทางจิต
ในกรณีของอเมริกา ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันสามารถทำให้คนหลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะเงินเก็บที่มีอยู่ถูกนำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือหากสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป ล้มป่วย หรือพิการและไม่สามารถทำงานหาเงินต่อไปได้ เช่นนี้ก็ส่งผลต่อการเป็นคนไร้บ้าน การป่วยทางจิตก็เช่นกัน ในหลายๆครั้งคนป่วยทางจิตและไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ ส่งผลให้กลายมาเป็นคนไร้บ้าน หรือคนไร้บ้านบางคนก็มีปัญหาทางจิตเหตุเพราะความเครียดที่ต้องประสบพบเจอในฐานะคนไร้บ้าน

การกลายมาเป็นคนไร้บ้านมีสาเหตุมาจากเหตุที่ว่ามาข้างต้นและอื่นๆอีก  บ่อยครั้งสาเหตุเหล่านั้นก็พัวพันกันมากกว่าจะเป็นแค่สาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เรากล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเราไม่มีที่อยู่อาศัยราคาถูก (affordable housing) มากเพียงพอมารองรับผู้มีรายได้น้อย และไม่มีโครงสร้างสังคมมาให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว

ที่มา : เหตุใดคนจึงไร้บ้าน – Penguin Homeless


ถอดบทเรียน…การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

ที่มา : BMK25600827-1.pdf (codi.or.th)


บ้านเพื่อผู้สูงอายุ ออกแบบอย่างไรให้อยู่สบายและปลอดภัย

การสร้างบ้านให้อยู่ดีมีคุณภาพ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกทุกคน โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุซึ่งมีข้อจำกัดทางสุขภาพร่างกายแตกต่างจากวัยอื่นๆ การออกแบบบ้านจึงควรสอดคล้องกับลักษณะความจำเป็นของการอยู่อาศัย เพื่อให้สะดวกสบาย ปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่างๆ มากที่สุด

ปัจจัยควรคำนึงเมื่อออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ
• ความสามารถในป้องกันและลดอุบัติหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
• เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้อย่างง่ายและสะดวกสบายมากที่สุด
• ช่วยเสริมให้สุขภาพกาย-ใจ ของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยนทุกเวลา

การออกแบบส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อผู้สูงอายุ
1. ห้องนอน ห้องนอนผู้สูงอายุ ควรออกแบบและจัดตำแหน่งให้อยู่บริเวณชั้นล่างของบ้าน เพื่อสะดวกและปลอดภัยในการใช้พื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้าน โดยภายในห้องควรมีลักษณะต่างๆ ดังนี้
• มีพื้นที่ภายในห้องอย่างน้อย 10-12 ตร.ม. แบบไม่รวมส่วนของห้องน้ำ
• ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างนำทางอัตโนมัติเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการเดินสะดุดหกล้มระหว่างทางไปเข้าห้องน้ำ
• ควรปูพื้นด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับแรงกระแทก และลดความรุนแรงหากเกิดการหกล้ม
• มีความเป็นส่วนตัว แยกออกเป็นสัดส่วนจากพื้นที่ส่วนกลางหรือห้องอื่นๆ ของบ้าน
• ภายในห้องมีพื้นที่กว้างพอที่รถเข็นสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก
• มีพื้นที่รองรับการทำงานอดิเรก หรือ พักผ่อนส่วนตัว

2. ห้องน้ำ การออกแบบห้องน้ำให้เอื้อต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ ไม่ได้มีเพียงความสวยงาม หรือการใช้สอยที่สะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังต้องเน้นที่ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยควรมีลักษณะของห้องน้ำดังนี้
• ห้องน้ำควรมีความกว้างประมาณ 1.5-2 ม.
• แยกพื้นที่ระหว่างส่วนเปียกกับส่วนแห้งอย่างชัดเจน แต่ไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ
• พื้นผิวปูพื้นควรเลือกใช้แบบที่ไม่ลื่น
• ส่วนของพื้นที่เปียกควรติดราวจับหรือราวทรงตัวเพื่อใช้สำหรับการประคองตัว ช่วยในการลุก นั่ง และควรมีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแต่งตัว
• มีอุปกรณ์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้สมาชิกคนอื่นๆ สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที
• ประตูห้องน้ำควรใช้เป็นบานเลื่อนหรือแบบเปิดออก
• อ่างล้างหน้าสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถ Wheelchair ควรมีลักษณะโค้งด้านหน้า มีพื้นที่ว่างใต้อ่าง

3. ห้องนั่งเล่น การออกแบบและตกแต่งห้องนั่งเล่นในบ้านที่มีผู้สูงอายุ ควรมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุได้ โดยควรตกแต่งดังนี้
• ไม่จัดวางเฟอร์นิเจอร์กีดขวางทางเดิน และเลือกเฟอร์นิเจอร์แบบที่มีเหลี่ยมมุมน้อย ฐานตั้งต้องมั่นคง ไม่เป็นล้อเลื่อน
• มีการติดตั้งราวจับสำหรับประคองตัวเดิน หรือยึดเหนี่ยวเมื่อจะเปลี่ยนอิริยาบท
• หน้าต่างเลือกใช้เป็นแบบบานใหญ่ มีความสูงจากพื้นประมาณ 50 ชม. เพื่อให้สามารถทอดสายตามองเห็นวิวภายนอกได้ชัดเจน
• สวิตช์ไฟในห้องนั่งเล่นควรมีความสูงจากพื้นประมาณ 90 ซม. ส่วนปลั๊กควรสูงประมาณ 45 ชม.

4. ห้องครัว เป็นหนึ่งพื้นที่ใช้งานที่มีอุปกรณ์ต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้สูงอายุ หากการจัดวางตำแหน่งไม่เอื้อต่อความสะดวกและปลอดภัย ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งต่างๆ และขนาดความสูงของพื้นที่ใช้งานจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
• พื้นที่ห้องครัว ควรมีความกว้างขวางพอสำหรับรถเข็น หรือการใช้งานอย่างคล่องตัว
• ไม่จัดวางสิ่งของกีดขวางพื้นที่ทางเดิน
• ส่วนล้างควรอยู่ตำแหน่งที่ไม่ได้เดินผ่านบ่อย เพื่อป้องกันการลื้นล้มกรณีที่มีน้ำกระเด็นลงพื้น
• เคาน์เตอร์ควรมีความสูงที่พอดีกับความสูงของผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้งานได้สะดวกโดยไม่ต้องเขย่งหรือก้มมากเดินไป
• เลือกใช้เตาที่มีระบบความปลอดภัยสูง
• ตู้เย็นหรือลิ้นชักในครัว ควรติดตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ มากเกินไป
• พื้นที่ภายในห้องครัวควรติดตั้งระบบระบายอากาศไว้อย่างดี

5. ประตู- หน้าต่าง
• ส่วนของประตูควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 ซม. และกว้างพอที่รถเข็นสามารถลอดผ่านได้
• ลักษณะบานประตูควรเป็นแบบเปิดออก หรือแบบบานเลื่อน เพื่อสะดวกและปลอดภัยเมื่อใช้งาน
• มือจับประตูควรเป็นแบบก้านโยก หรือแกนผลัก เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
• หน้าต่างบ้านที่มีผู้สูงอายุควรมีขนาดเหมาะสม เปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างดี สามารถมองเห็นวิวภายนอกได้

6. บันได สำหรับบ้านที่ห้องผู้สูงอายุไม่ได้อยู่ชั้นล่าง หรือมีความจำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องใช้พื้นที่ชั่นบน ควรมีการออกแบบบันไดให้เหมาะสมกับการใช้งานดังนี้
• ตัวบันไดควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 ม. และหากบันไดมีความสูง ควรต้องมีชานพักเป็นระยะๆ
• ขั้นบันไดควรมีความสูงสำหรับแต่ละขั้นไม่เกิน 15 ซม. และมีความกว้างอย่างน้อย 30 ซม. หรือมีขนาดที่วางเท้าได้เต็มเท้า
• พื้นบันไดควรปูด้วยวัสดุที่ไม่ทำให้ลื่น และไม่ควรขัดเงาจนทำให้มีความลื่นเพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
• ราวจับควรมีความมั่นคงแข็งแรง ได้มาตรฐาน สามารถจับได้อย่างถนัดมือ เมื่อบ้านสร้างแล้วก็ควรมีการตรวจเช็กราวบันไดให้สามารถใช้งานได้ดีเสมอ

7. ทางเดิน-ทางลาด-พื้น
• บ้านที่มีผู้สูงอายุ ควรมีการออกแบบพื้นบ้านให้เรียบเสมอกัน ไม่ควรยกพื้นต่างระดับ และต้องไม่เรียบเกินไป
• บริเวณทางเดินควรมีแสงสว่างเพียงพอ และเป็นระบบเปิด-ปิด อัตโนมัติ
• มีราวจับทั้งพื้นที่ที่เป็นทางเดิน ทางลาด และทั่วบริเวณบ้าน เพื่อเป็นที่ยึดจับ สร้างความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ
• ผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ในพื้นที่บ้านควรมีทางลาดให้ขึ้นลงสะดวก ไม่ชันจนเกินไป

ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่มีผลทำให้การใช้ชีวิตมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว ดังนั้นการสร้างบ้านที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและสะดวกสบายแม้ร่างกายไม่อำนวย จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความสุข และอุ่นใจเมื่อพักอาศัยในบ้านที่ให้ความสำคัญและออกแบบเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

ที่มา : บ้านเพื่อผู้สูงอายุ ออกแบบอย่างไรให้อยู่สบายและปลอดภัย – สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน Home Builder Association (hba-th.org)


ออกแบบบ้านเพื่อความสุขของผู้สูงวัย

ที่มา : Page not found – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (thaihealth.or.th)


ข้อควรรู้ก่อนซื้อบ้านใหม่

สำหรับหลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดสักหลัง แต่เนื่องจากบ้านและคอนโดในปัจจุบันถือเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง ดังนั้นก่อนที่จะซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ผู้ซื้อจึงต้องมีการหาข้อมูล และตรวจสอบรายละเอียด และทำความเข้าใจกับกฎหมายทางด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เข้าใจ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจนำไปสู่การเสียเงิน เสียเวลาในภายหลัง ต่อไปนี้เป็นข้อคิดในการวางแผนก่อนตัดสินใจเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้าน, คอนโดฯ, ทาวน์เฮาส์, โฮมออฟฟิศ เป็นต้น

1.สำรวจความต้องการของตนเอง
ในการเลือกซื้ออสังหาฯ ผู้ซื้อจะต้องกำหนดความต้องการของตนเองว่ามีบ้านในฝันแบบไหน เช่น บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ซึ่งในแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการตกแต่งบ้าน ราคา รูปแบบ และเนื้อที่ใช้สอย

2.การตั้งงบประมาณ-ซื้อตามกำลังทรัพย์
การเลือกบ้านที่เหมาะสมควรเป็นไปตามกำลังความสามารถในการผ่อนชำระ ไม่ควรซื้อบ้านราคาสูงเกินกำลัง เพราะแทนที่จะมีชีวิตสุขสบายกับบ้านหลังใหม่ สามารถแบกรับภาระหนี้ในการผ่อนชำระต่อไปในอนาคตอีกนับสิบๆ ปี เพราะปกติเมื่อเราทำงานได้ตามเกณฑ์ทั่วไปที่ธนาคารกำหนด คือทำงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2  ปี ก็สามารถกู้ซื้อบ้านได้แล้ว หากซื้อบ้านที่มีราคาสูงเกินความสามารถก็จะกลายเป็นทุกข์เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาผ่อนชำระค่าบ้าน จนไม่มีเวลาได้พักผ่อนหรือใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้น โดยทั่วไป ค่าผ่อนบ้านในอัตราที่เหมาะสม คือ 25% ของรายได้ และมากสุด ไม่ควรเกิน 35% เพราะจะทำให้ภาระหนี้ตึงมือ จนทำให้บ้านหลุดมือไปได้

3.การพิจารณาทำเลที่ตั้งโครงการ
หลังจากที่ผู้ซื้อประเมินกำลังเงินของตัวเองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า รายได้ของครอบครัวเหมาะสมที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในประเภทไหนที่จะกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ และสามารถผ่อนส่งได้โดยไม่เดือดร้อน สิ่งแรกที่ผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติคือ การหาข้อมูลเบื้องต้นของบ้านที่ต้องการซื้อ โดยยึดเอาทำเลที่ตั้งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกที่สุด มาเป็นข้อพิจารณาอันดับแรกได้แก่ การเดินทางไปสถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของสมาชิกในครอบครัว ระบบโครงข่ายคมนาคมที่มีระบบขนส่งรองรับ ทำให้การเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจประจำวันสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งการเลือกทำเลที่ตั้งของบ้านจะพิจารณาจากความเหมาะสมกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนในครอบครัวเป็นหลัก

4.เลือกโครงการและราคาที่เหมาะสม
เมื่อผู้ซื้อได้ทำเลที่ต้องการแล้ว ในแต่ละทำเลจะมีโครงการที่ให้ผู้ซื้อเลือกอย่างมากมายทั้งโครงการขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก สิ่งที่จะต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไป คือการพิจารณาเลือกโครงการและราคาที่เหมาะสม สำหรับโครงการที่ดีนั้นควรจะมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ครบถ้วน เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายการจัดสรรที่ดินกำหนดหรือไม่ สิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ เช่น สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ หรือสปอร์ต คลับ มีตรงตามความต้องการของผู้ซื้อหรือไม่ ในบริเวณใกล้เคียงโครงการมีโรงเรียน โรงพยาบาล หรือศูนย์การค้าหรือไม่ รวมถึง สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโครงการ เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัวหรือไม่

ซื้อบ้านไม่จำเป็นต้อง “ใหม่” มือหนึ่งเสมอไป: เพราะการซื้อบ้านมือสอง ผู้ซื้อมีโอกาสต่อรองราคาได้มากกว่าบ้านมือหนึ่งและอาจได้บ้านดีราคาถูกตามไปด้วย ขณะที่เหตุการณ์แบบนี้แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในโครงการบ้านใหม่ ดังนั้น บ้านมือสองอาจเป็นทางเลือกที่ดีก็ได้ โดยเฉพาะในบางทำเลบ้านใหม่ๆ หายาก หรือแทบไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประกรหนึ่ง คือ บริษัทหรือเจ้าของโครงการมีความน่าเชื่อถือมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการ ที่อยู่อาศัยมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากประวัติชื่อเสียงและผลงานในอดีต เพื่อเป็นเครื่องรับประกันในขั้นต้นว่า ผู้ซื้อจะได้บ้านที่มีมาตรฐานทั้งด้านความมั่นคงแข็งแรง และก่อสร้างบ้านให้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันอย่างตรงเวลา ในกรณีนี้ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และมีความเป็นมืออาชีพ จะได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีผลงานในการก่อสร้างเลย

5.การวางมัดจำ และทำสัญญาซื้อขาย
ก่อนทำสัญญาจะซื้อ หรือสัญญาวางมัดจำนั้น หากเป็นการซื้อบ้านพร้อมที่ดินผู้ซื้อควรตรวจสอบสำเนาโฉนดทั้งด้านหน้า และด้านหลัง รวมถึงตรวจสอบทะเบียนบ้านเพื่อยืนยันสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของที่ดินเดิม แต่ในกรณีที่เป็นอาคารชุด หรือห้องชุด อาจต้องดูสัญญาจะซื้อห้องชุด โดยตัวอย่างเอกสารสัญญาเหล่านี้สามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ต ดังเช่น ตัวอย่างสัญญาในเว็บไซต์ สำนักกฎหมายสวัสดิธรรม ทั้งนี้ เรื่องการวางเงินมัดจำ ต้องขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย โดยเงื่อนไขต่าง ๆ จะต้องมีระบุไว้ในเอกสารสัญญาอย่างชัดเจน

6.การติดต่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
คนส่วนใหญ่นิยมกู้เงินมาซื้อบ้านแต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมซื้อด้วยเงินของตัวเอง อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่หนึ่งในนั้นคือ ไม่อยากเสียดอกเบี้ย ในความเป็นจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเป็นอัตราที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับเงินกู้ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านยังมีโอกาสได้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้อีกซึ่งในแง่การลงทุน ยิ่งกู้ได้มากยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึง เราไม่ต้องใช้เงินตัวเองในการลงทุน เงินก้อนที่จะจ่ายสดไปกับการซื้อบ้าน สู้นำไปลงทุนเพิ่มพูนมูลค่าน่าจะดีกว่า ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของแต่ละคน

นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้าน, คอนโดฯ, ทาวน์เฮาส์, โฮมออฟฟิศ เท่านั้น ยังมีข้อควรคิดพิจารณาอีกมากมาย เช่น สภาพแวดล้อมของบ้าน, การจัดวางผังของหมู่บ้านจัดสรร, ความปลอดภัย, ระบบสาธารณูปโภค, ความมั่นคงและความเชื่อถือของเจ้าของโครงการ เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะซื้อบ้านควรทำความเข้าใจกับรายละเอียดต่างๆ ให้มากก่อน เพื่อจะได้บ้านที่เราฝัน

ที่มา : ข้อควรรู้ก่อนซื้อบ้านใหม่ – DotProperty.co.th

ใส่ความเห็น