ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565

สังคมแห่งความรักและการแบ่งปัน (Loving and Sharing Society)

การสร้างสัมพันธภาพและบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัว

ครอบครัว เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมที่มีส่วนเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นกับบุคคล กล่าวคือ ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีความรัก ความเข้าใจซึ่งกันละกัน เอื้ออาทร ห่วงใยดูแล   ซึ่งกันและกัน ก็จะส่งผลให้ครอบครัวมีความสุขและปลูกฝังบุคลิกภาพที่ดีให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าสมาชิกในครอบครัวทะละวิวาทกัน มีความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกัน ครอบครัวก็จะไม่มีความสุข และอาจส่งผลให้เด็กก้าวร้าว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นได้ลักษณะของครอบครัวที่อบอุ่นครอบครัวที่อบอุ่นเป็นครอบครัวที่มีความสุขมีความพอใจในครอบครัวตนเอง ซึ่งมีลักษณะดังนี้ 1. หัวหน้าครอบครัวมีความรักความเข้าใจในสมาชิก มีความเมตตา เอื้อเฟื้อ เสียสละให้อภัยและเอื้ออาทรต่อสมาชิกในครอบครัวทุกคน ไม่ลงโทษต่อสมาชิกในครอบครัวโดยวิธีที่รุนแรงไม่แสดงกิริยาข่มขู่ หรือทำให้บุคคลในครอบครัวอับอาย 2. หัวหน้าครอบครัวไม่ลำเอียงในการเลี้ยงดู ให้ความรักความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ไม่ลำเอียงรักลูกคนเล็กมากที่สุดไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่แสดงกิริยารักเฉพาะบุตรตนเองกับผู้อื่น รักษาดูแลสมาชิกในครอบครัวเมื่อเจ็บป่วย 3. ระบบการปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ โดยรู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เช่น ไม่รื้อค้นสิ่งของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต ไม่เปิดจดหมายผู้อื่น เป็นต้น 4. สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่สามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง  หรืออาฆาตพยาบาทต่อกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 5. สมาชิกในครอบครัวรู้จักบทบาทหน้าที่ตนเอง มีสัมมาคารวะมีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ไม่ลักขโมย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัว

วิธีสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัว สัมพันธภาพและบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัวก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจที่คนในครอบครัวรู้สึกเมื่ออยู้ร่วมกัน บรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวนั้น ทุกครอบครัวสามารถสร้างขึ้นได้โดยปฏิบัติ ดังนี้ 1. ยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคนในบ้าน 2. รักและห่วงใยรู้จักเอื้ออาทรและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 3. รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย 4. ช่วยงานบ้านทุกอย่างด้วยความเต็มใจ 5. รู้จักฟังผู้อื่นพูดและยอมรับในความคิดของผู้อื่น 6. ไม่ทะเลาะวิวาทกับพี่น้องหรือบุคคลอื่นในครอบครัว รู้จักให้อภัยต่อกัน 7. ไม่เอาแต่ใจตนเอง มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ 8. ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าวเมื่อไม่พอใจ ใช้กิริยาวาจาที่สุภาพกับทุกคน 9. เคารพนับถือ มีสัมมาคารวะต่อพ่อแม่ผู้มีอาวุโส และญาติผู้ใหญ่ทุกคน 10. เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของทุกคนในครอบครัว 11. มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เสียสละ และให้อภัย 12. สมาชิกในครอบครัวร่วมรับผิดชอบการวางแผนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครอบครัว

ที่มา : สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับครอบครัว (banlaem.go.th)


พฤติกรรมการแบ่งปัน เป็นการเสียสละสิ่งของหรือทรัพย์ของตนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน หรือต้องการความช่วยเหลือ การแบ่งปันเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้เด็กขจัดความเห็นแก่ตัวออกจากตนเอง และทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะความขัดแย้งในเด็กอนุบาลและประถมต้นมักเป็นเรื่องของการแย่งชิงของเล่นกัน สาเหตุส่วนใหญ่ของการทะเลาะกันมักมากจากการไม่รู้จักแบ่งปันกันนั่นเอง

การแบ่งปันมีความสำคัญอย่างไร?

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิถีชีวิตของคนไทยแบบดั้งเดิมกำลังเสื่อมหาย ความอบอุ่น ความมีน้ำใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเริ่มลดน้อยเสื่อมถอยลงไป การรับเอาวัฒนธรรมค่านิยมตะวันตกและความเจริญทางด้านวัตถุเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนมากมายในสังคม เพราะสังคมต่างมองและยอมรับว่า ค่านิยมเหล่านี้จะนำตัวเองไปสู่ความทันสมัย ความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมกับอารยประเทศได้ จนทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเกิดความเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น จนทำให้ลืมไปว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญและไม่ควรละเลยก็คือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การช่วยเหลือแบ่งปัน ร่วมมือซึ่งกันและกันในสังคม และจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สังคมเป็นสังคมที่เจริญอย่างแท้จริงก็คือ การศึกษาของเด็กปฐมวัย เพราะเด็กวัยนี้เปรียบเหมือนผ้าขาว จะทำให้มีสีสันอย่างไรก็ได้ สีสันที่เราต่างต้องช่วยกันบรรจงแต่งแต้มด้วยวิธีการที่เห็นว่า จะทำให้ผืนผ้าทุกผืนเป็นผืนผ้าที่สวยงาม สมบูรณ์มากที่สุด ดังนั้นในการพัฒนาบุคคลให้เป็นพลเมืองที่ดี จึงจำเป็นต้องเน้นให้คนมีคุณธรรม – จริยธรรมควบคู่ไปกับการศึกษาส่วนอื่นด้วย จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการแบ่งปันโดยรีบปลูกฝังเสียตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กยังเป็นไม้อ่อนที่ดัดง่าย วัย 6 ปี แรกของชีวิตนั้นมีความสำคัญในการพัฒนายิ่งกว่าวัยอื่นๆทั้งหมด และถ้าเด็กปฐมวัยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องแล้วความสามารถในการเรียนรู้ จะถูกยับยั้ง ล่าช้า และชะงักงันได้ จึงต้องมีการปลูกฝังพฤติกรรมการแบ่งปันให้เหมาะสมกับพัฒนาการ ซึ่ง Ugurel-Semin ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงอายุกับการแบ่งปันในเด็กและพบว่า

  • เด็กในช่วงอายุ 4-6 ขวบ มีพฤติกรรมแบ่งปันคิดเป็น 33% และมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวคิดเป็น 67%
  • เด็กในช่วงอายุ 7-10 ขวบ มีพฤติกรรมแบ่งคิดเป็น 77% และพฤติกรรมเห็นแก่ตัวคิดเป็น 23%

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมด้านการแบ่งปันในเด็กจะเห็นชัดในช่วงวัย 7-10 ขวบ ดังนั้น จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมแบ่งปันที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับสถานการณ์

เด็กจะได้ประโยชน์อะไรจากการแบ่งปัน?

พฤติกรรมการแบ่งปัน เป็นสิ่งสำคัญในสังคมที่ทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุขและเจริญก้าวหน้ารวมถึงประเทศชาติ เราจึงต้องมีการปลูกฝังพฤติกรรมการแบ่งปันตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น จึงสมควรหาวิธีการสอนพฤติกรรมการแบ่งปันให้กับเด็กปฐมวัยให้มีความเหมาะสมกับความสามารถและพัฒนาการที่แท้จริงของเด็กปฐมวัย ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับคือ เด็กจะสามารถ เรียนรู้ เข้าใจจิตใจ อารมณ์ของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองให้เหมาะสมเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ต้องแบ่งปันของเล่นที่ตนเองชอบให้กับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น มีความสามารถช่วยเหลือผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ มีน้ำใจ อ่อนโยน ช่วยเหลือแบ่งปัน และเกิดความภาคภูมิใจในพฤติกรรมของตนเองเมื่อได้แสดงการแบ่งปันให้ผู้อื่น และรับรู้ถึงความรู้สึกเป็นสุขใจเมื่อได้ทำให้ผู้อื่นมีความสุข การเห็นคุณค่าในตนเองในการทำดี แบ่งปันสิ่งที่รักที่ชอบให้เพื่อนๆและผู้อื่น และเด็กจะมีความยุติธรรมในจิตใจ เมื่อเกิดสถานการณ์การแย่งชิงข้าวของ เด็กสามารถแยกแยะพฤติกรรม และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ การที่เด็กเรียนรู้ที่จะเล่นหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยที่เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นมากเพียงใด เด็กจะเรียนรู้การให้ความร่วมมือที่จะทำกิจกรรมมากขึ้นด้วย เด็กที่มีพฤติกรมการแบ่งปันจะได้รับการยอมรับจากสังคม จะกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมทางบวกที่สังคมต้องการเพิ่มมากขึ้น เด็กจะแสดงออกในความเป็นเพื่อนด้วยการเล่นการพูดคุย และการแสดงความรักใคร่ต่อผู้อื่น เด็กจะมีความเห็นอกเห็นใจและเด็กจะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้เมื่อเด็กประสบกับเหตุการณ์ เช่น คนได้รับความทุกข์ก็จะเข้าไปช่วยเหลือหรือปลอบโยน การพึ่งพาอาศัยผู้อื่นให้ช่วยเหลือเหลือ เอาใจใส่ดูแล ซึ่งเด็กจะมีความพอใจช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อนๆเสมอ ไม่เกิดความรู้สึกหวงข้าวของ

ที่มา : Happy Child แชร์ความสุขปันความรู้สู่น้องๆ: สร้างความสุขง่าย ๆ แค่เริ่มต้นจากการแบ่งปัน (happychildshere.blogspot.com)


สังคมแห่งการแบ่งปัน

สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งคนด้อยโอกาส เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

ห้วงเวลาวิกฤติของโลก อันเนื่องมาจาก ’สงครามโรค“ ประเทศไทย ก็หนีก็ไม่พ้นกับการเผชิญ “โควิด-19” หน่วยงานต่าง ๆ โหมระดมสรรพกำลังรับมือกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ความร่วมมือที่เกิดขึ้น ถึงเป็นภาพสวยงามที่หลายคนพูดอยู่เสมอว่า ประเทศอื่นอยากจะเสมอเหมือนไทยเรา
        
มีตัวอย่างของการให้ความช่วยเหลือ ที่ส่งต่อระหว่างภาคธุรกิจกับชุมชน ชุมชนบ้านคอกช้างพัฒนา ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเป็นที่ตั้งของ ไร่องุ่นมอนซูน แวลลีย์  ซึ่งถือเป็นไร่องุ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขึ้นชื่อด้านคุณภาพการผลิตไวน์ที่โด่งดังระดับนานาชาติ  ภายใต้การบริหารงานของ กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ โดยมี “นายวาริท อยู่วิทยา” รองกรรมการผู้จัดการ
        
ที่ผ่านมากลุ่มเอกชนรายนี้ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา และช่วยเหลือสังคม ด้วยโครงการต่าง ๆ มากมายในพื้นที่ โดยมุ่งหวังความสำเร็จที่ชุมชนได้รับเป็นแก่นของพันธกิจในการดำเนินงาน หนึ่งในพันธกิจ ด้านการพัฒนาสังคม ที่ให้ความสำคัญคือ ระบบการศึกษา โดยมีแนวคิดว่า การพัฒนาการศึกษา ให้เด็กและเยาวชนนั้น เป็นแก่นรากฐานของการเรียนรู้ สามารถพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ

เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชนและประเทศในอนาคต จึงมุ่งเน้นการสร้างและการให้โอกาสกับเด็กเล็กจนถึงเยาวชนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เกิดเป็น “โครงการพัฒนาชุมชนรอบไร่องุ่น” โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านคอกช้างพัฒนา ทั้งปรับปรุงอาคารสถานศึกษา การสร้างห้องสมุดภายในบริเวณโรงเรียน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวทาง
        
ซึ่งให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนกับเยาวชน เกิดเป็น ห้องสมุดบ้านดิน “เฉลิม-ดารณี อยู่วิทยา” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553  แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปห้องสมุดได้ทรุดโทรม ทำให้เยาวชนและคนในชุมชนไม่สามารถใช้งานได้ “กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่” พร้อมเข้ามาช่วยเหลือและ ปรับปรุงห้องสมุดและเพิ่มอุปกรณ์ เติมเต็มโอกาสทางการเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง และส่งมอบให้แก่โรงเรียนบ้านคอกช้างพัฒนาแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 64 ที่ผ่านมา
        
เพื่อให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้ของชุมชน ให้เด็กนักเรียน มีสถานที่อ่านหนังสือและเพิ่มพื้นที่การทำกิจกรรมการเรียนการสอนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มโอกาสให้คนในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน  นอกจากนี้ยังสนับสนุนอุปกรณ์ทางการศึกษา ตลอดจนการมอบทุนการศึกษา เพิ่มโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ชุมชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงอีกด้วย

และจากการยึดมั่นปรัชญา ในการสร้างสรรค์ และ พัฒนาสังคม อย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ยังสนับสนุนให้เด็กเล็กและเยาวชนโรงเรียนบ้านคอกช้างพัฒนา ได้เรียนรู้ วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 
        
“นายเศรษฐา เทพสาร” รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคอกช้างพัฒนา เล่าให้ฟังตอนหนึ่งว่า “ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ มาอย่างต่อเนื่อง 11 ปี ทั้งด้านทุนการศึกษา ของเด็กนักเรียน อุปกรณ์ทางการศึกษา เมล็ดพันธุ์และความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ทำให้เด็กในชุมชนมีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข
        
ทางโรงเรียนต่อยอดโอกาสนั้น ก่อตั้งเป็นโครงการ CSR เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เด็กนักเรียน ได้เรียนรู้การทำการเกษตรและพึ่งพาตนเอง ทำให้เด็ก ๆ มีโภชนาการที่ดีจากการนำผลผลิตทางการเกษตรมาประกอบอาหารกลางวัน  อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน จากพืชผลทางการเกษตรที่เหลือใช้จากโครงการอาหารกลางวันของเด็ก ๆ อีกด้วย”
         
ขณะที่ “นายวาริท อยู่วิทยา” รองกรรมการผู้จัดการ บอกว่า ภายใต้แนวคิดและความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีต้องมาจากรากฐานที่ดี เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิต ของชุมชนให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น  เรารับฟังปัญหาและร่วมสนับสนุนทั้งทุนทรัพย์ สิ่งของ และเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
        
ที่ผ่านมาเรามักได้ยินว่า สังคมไทยประกอบไปด้วย การช่วยเหลือการแบ่งปันกัน คนพร้อมคนมีมากกว่า จะไม่ทอดทิ้งคนด้อยโอกาส คนต้องการความช่วยเหลือ “ชุมชนบ้านคอกช้างพัฒนา”  คือตัวอย่างที่น่าชื่นชม และควรเป็นแบบอย่างให้ภาครัฐและเอกชนได้ศึกษา เพื่อสร้างความดีความสวยงามให้เกิดขึ้น อ่านต่อที่ : https://d.dailynews.co.th/article/849592/


การแบ่งปัน-เสียสละเพื่อส่วนรวม ข้อคิดทำดีที่ลูกหลานซึมซับจากปู่ย่า

 เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้ว “การให้และการแบ่งปัน” ถือเป็นเรื่องที่สร้างทั้งความสุขใจ และปลูกฝังเรื่องของการสร้างเอื้ออาทรให้กับคนในสังคมได้ทางหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องของการให้นั้น นอกจากทรัพย์สินเงินทองตามอัตภาพของผู้ให้แล้ว การแสดงความมีน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ กับอื่น หรือแม้แต่เด็กรุ่นลูกหลานปฏิบัติต่อผู้สูงวัย เช่น เรื่องง่ายๆ อย่างการลุกให้คนวัยเกษียณนั่งบนรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือแม้แต่การช่วยถือของ ก็ถือเป็นการเสียสละให้กับผู้อื่นได้แล้ว ซึ่งไม่เพียงสะท้อนเรื่องของความเอื้อเฟื้อเผื่อแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ เยาวชนในวัยเดียวกันได้ แต่การที่เด็กจะซึมซับเรื่องของการทำความดีนี้ไปสู่ผู้อื่น การมีแบบอย่างที่ดีจากปู่ย่าตายาย ที่ประพฤติปฏิบัติให้แบบอย่างกับลูกหลาน ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามเสียไม่ได้

(พญ.สุรางค์ เลิศคชาธาร)

พญ.สุรางค์ เลิศคชาธาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชและผู้สูงอายุ จากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.28 กรุงธนบุรี ให้ข้อมูลว่า “ในฐานะที่หมอเข้าสู่วัยหลัก 60 ปีนิดๆ แล้ว สิ่งสำคัญสำหรับหมอคือการปล่อยวางและให้อภัยผู้อื่น และก็หันมา “ให้สิ่งต่างๆ กับคนมากขึ้น” เช่น การให้เงินกับลูกหลาน หรือน้องๆ ในที่ทำงาน หรือใช้วิชาชีพในการเป็นแพทย์ไปช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังของเรา ซึ่งบางครั้งการที่เราได้ให้เงินกับคนอื่นเพียง 100 บาท เราก็มีความสุขแล้วค่ะ กระทั่งบางครั้งที่หมอเดินไปทำงาน และเห็นคุณยายอายุมากๆ นั่งขายของอยู่ริมถนน หมอก็ช่วยซื้อค่ะ แม้ว่าบางครั้งจะไม่ใช่เงินจำนวนมาก หมอก็รู้สึกดีที่สามารถช่วยคุณยายได้ ซึ่งไม่เพียงแค่หมอสุขใจ แต่คุณยายที่ขายของเองก็มีความสุขใจเช่นกัน เพราะสามารถทำงานเลี้ยงชีวิตตัวเองได้โดยที่ไม่ได้พึ่งพาลูกหลานค่ะ ส่วนหนึ่งก็เรียกว่าส่งเสริมทางอ้อมให้คนวัยเกษียณได้ทำงาน ไม่นั่งอยู่กับบ้านแบบเหงาหงอย อีกทั้งอยู่แบบภาคภูมิใจ แม้ว่าบางครั้งเมื่อถึงวัยนี้ท่านควรจะได้พักผ่อนอยู่กับบ้านก็ตาม กรณีของผู้ที่มีฐานะ ซึ่งลูกหลานพอที่จะเลี้ยงดูท่านได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งค่ะ

นอกจากการหยิบยื่นเงินทอง ให้ผู้อื่นตามกำลังแล้ว เรื่องที่หมออยากพูดคือ อาจจะต้องยกความดีความชอบให้กับปู่ย่าตายายเอง หรือแม้แต่คนที่เป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะ “การสอนให้ลูกหลานรู้จักเสียสละและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น” เพราะการปฏิบัติปฏิบัติชอบเหล่านี้ นับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และสามารถสร้างให้เกิดความเอื้อเฟื้อในสังคม ลดการมองโลกในแง่ร้าย ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ วัยเดียวกันได้ เช่น ปัจจุบันเวลาที่หมอนั่งรถไฟฟ้า BTS ไปทำงานและไปธุระ จะสังเกตได้ว่าเด็กรุ่นใหม่น่ารักมากขึ้นเยอะเลยค่ะ และมักจะลุกให้ผู้สูงอายุนั่ง หรือแม้การที่ผู้สูงอายุถามเส้นทางเด็กๆ เขาก็จะกระตือรือร้น และรีบบอกเส้นทางกับคุณตาคุณยายว่าเราควรไปทางไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารัก เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ใหญ่อย่างเต็มใจ ส่วนหนึ่งหมอคิดว่าน่าจะมาจากการสอน และการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้เด็กได้ซึมซับสิ่งที่ดีๆ เหล่านี้ หรือแม้การให้ข้อมูลที่ย้ำบ่อยๆ ของทางบริการขนส่งสาธารณะเอง เกี่ยวกับการให้ความอนุเคราะห์ผู้สูงวัย เด็กและคุณแม่ตั้งครรภ์ อีกทั้งเมื่อเด็กได้ฟังทุกวัน แน่นอนว่าก็จะทำให้เขาได้คิดและปฏิบัติตาม ก็เป็นส่วนหนึ่งค่ะ แต่ท้ายที่สุดแล้วหมอคิดว่าการปลูกฝังเรื่องความมีน้ำใจและความเสียสละต่อผู้อื่นซ้ำๆ หรือผู้ใหญ่กระทำให้ลูกหลานเห็น เขาก็จะจดจำและนำไปสอนลูกๆ หลานๆ ต่อไปค่ะ”.

ที่มา : https://kamphaengphet.m-society.go.th/wp-admin/post.php?post=3388&action=edit


รู้โลก ตอน รักแบบไม่มีเงือนไข โดย พระมหามงคล

ที่มา : สามเณร ปลูกปัญญาธรรม – True Little Monk – YouTube

ใส่ความเห็น