ความยากจนครัวเรือนไทย จะให้หลุดพ้นได้อย่างไร (Breaking the Cycle of Poverty in Thai Family)
ปัญหาความยากจนในสังคมไทย
“ความยากจน ” ปัญหาที่ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย
ประเทศไทยของเรานี้มีสารพัดปัญหาสังคมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ฯลฯ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนและกระทบความเป็นอยู่ของคนในสังคมมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “ ปัญหาความยากจน” ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน ทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องประสบกับภาวะความยากจน อยู่ในภาวะที่ขาดแคลนไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการมีหนี้สิน ซึ่งสาเหตุของความยากจน ก็เกิดจากการไม่มีงานทำ ประชากรเพิ่มขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของประชากร ความเกียจคร้านและความเฉื่อยชา ลักษณะของอุตสาหกรรม ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและสังคม ตลอดจนขาดการกระจายรายได้ที่เหมาะสม เหตุผลเหล่านี้เป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย เพราะถ้าหากประชาชนว่างงานก็ไม่มีรายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ และความยากจนยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งเป็นปัญหาสังคม เช่นอาชญากรรม และยังครอบคลุมถึงขาดโอกาสทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การไร้ซึ่งอำนาจ และส่งผลทางด้านสุขภาพจิตของบุคคลทำให้เกิดความท้อแท้สิ้นหวังต่างๆตามมา จะเห็นได้ว่าปัญหาความยากจนเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเข้ามาแก้ไขในส่วนของเศรษฐกิจและสังคม เช่นให้การศึกษา เพราะการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพที่มีความก้าวหน้า ส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพอนามัย และให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนสร้างอาชีพให้แก่ประชาน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน
ความยากจน ในสังคมไทย
ความยากจนเป็นปัญหาสังคมไทยมานานกว่า 20 ปี คนจนในที่นี้จึงหมายถึง คนที่มีรายได้ไม่พอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร หรือประมาณ 18 ล้านคน ของประชากรทั้งหมดในช่วงนั้น หลังจากนั้นมาเศรษฐกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2531 ได้ช่วยให้จำนวนคนยากจนในประเทศลดน้อยลง แต่มาในช่วงปี 2540 จนถึง ปี 2549 นั้น จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ประเทศไทยยังคงมีคนจนที่มีรายได้ตํ่ากว่า 1,386 บาท/เดือน อยู่ถึงร้อยละ 10% หรือประมาณ 6 ล้านกว่าคน และหากถ้ารวมคนที่เกือบจะจน ที่มีรายได้ไม่เกิน 1,600 บาท/เดือน ด้วยแล้วยังมีอีกประมาณ 8 ล้านกว่าคน หากรวมแล้วประเทศไทยจะมีคนจนทั้งหมดเกือบ 15 ล้านคน ทั่วประเทศ หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นได้ว่า ร้อยละ 80% ของคนจนดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วอาศัยอยู่บริเวณแถบภาคเหนือ และภาคอีสาน และหากถ้าดูสัดส่วนรายได้ของคนทั้ง 2 ภาคนี้ จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนรายได้เพียงแค่ 19% ของรายได้รวมของคนทั้งประเทศ
อ้างอิง : ปัญหาความยากจน: ปัญหาความยากจนในสังคมไทย (pan-ha-khuam-yak-jon.blogspot.com)
ความยากจน-เหลื่อมล้ำของคนไทย ท่ามกลางโควิด “รุนแรง” ขนาดไหน?
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานข้อมูลสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของคนไทยปี 2563 ซึ่งเริ่มการแพร่ระบาดของโควิด 19 ท่ามกลางวิกฤตโควิด และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และครัวเรือนสูญเสียรายได้ เพราะหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ
ดังนั้นหากไม่มีมาตรการเยียวยาจากรัฐในปี63 โดยเฉพาะพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท สถานการณ์ “คนจน” ในประเทศไทยอาจจะพุ่งขึ้นเป็น 11.02 ล้านคน จาก 4.3 ล้านคนในปี62 และความเหลื่อมล้ำจะถอยหลังไปถึง 7 ปี แต่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาครัฐ ทำให้สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงต่ำกว่าคาด รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในรายการเศรษฐกิจinsight
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับนิยาม “คนจน” กันก่อน คือ ผู้ที่มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่า “เส้นความยากจน” ซึ่งเป็นการพิจารณาคนจนด้านตัวเงิน โดยเส้นความยากจนคำนวณจากความต้องการบริโภคอาหารขั้นต่ำของสมาชิกในครัวเรือน และการบริโภคสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน โดยในปี 2563 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กระทบกับประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยในระยะแรกจากการเป็นโรคอุบัติใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และทั่วโลกยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้มากนัก ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 (-12.1%) ผู้ประกอบการบางสาขาต้องปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงานบางส่วน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 1 เท่าตัว
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย หรือนักวิชาการต่างมีข้อกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่าโควิด-19 จะส่งผลให้สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะธนาคารโลกที่ออกมาคาดการณ์ว่าสัดส่วนคนจนจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.8 ในปี 2563 จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.24
แต่จากข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ล่าสุดพบว่าสถานการณ์ความยากจนปี 2563 ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากดังที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยมีจำนวนคนยากจนในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ร้อยละ 6.84 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือคนจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านคน (5 แสนคน) จากปีก่อนเท่านั้น การที่สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลงถึงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า
ด้านความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกับความยากจน โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคจีนี (Gini coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในปี 2563 อยู่ที่ 0.350 เพิ่มขึ้นจาก 0.348 ในปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของคนลดลง
ขณะเดียวกันยังทำให้ครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันโรค โดยเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของรายจ่ายครัวเรือนเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย มีรายจ่ายลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 ทั้งนี้ สาเหตุที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีรายจ่ายลดลง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระมีข้อจ้ากัดในการหารายได้ จึงต้องปรับลดรายจ่ายลงโดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีการบริโภคลดลงถึงร้อยละ 4.36
แม้ภาพรวมครัวเรือนรายได้น้อยจะมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคลดลง แต่ค่าใช้จ่ายจำเป็นเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านเวชภัณฑ์ และการตรวจรักษาพยาบาล เนื่องจากต้องป้องกันตนเองในช่วงการแพร่ระบาด อีกทั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาทิ อุปกรณ์การเรียน ค่าเล่าเรียน ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนรายได้สูงด้วย เนื่องจากครัวเรือนรายได้น้อยจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการสื่อสาร ยังพบว่ากลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายในด้านนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากลักษณะการประกอบอาชีพของวัยแรงงานที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำางานจากที่บ้านได้ ซึ่งแตกต่างจากครัวเรือนรายได้สูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าใช้บริการโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลง แต่จะมีผลกระทบต่อเนื่องที่ต้องติดตาม คือ 1) คนว่างงานเพิ่ม และว่างงานยาวนานขึ้น ส่งผลทั้งการขาดรายได้ การพัฒนาทักษะ และความสามารถในการหางานในอนาคต ในปี 2563 แม้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ร้อยละ 1.69 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการว่างงานในช่วงปกติที่ร้อยละ 1 ขณะที่ในปี 2564 สถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงแรงขึ้นในไตรมาส3 ปี 2564 ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น “สูงสุด” ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 แต่ยังต่ำกว่าอัตราการว่างงานในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีอัตราการว่างงานในปี 2541 สูงถึงร้อยละ 4.37 โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีทั้งสิ้น 5.8 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเด็กจบใหม่มีจำนวน 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ10 สะท้อนว่า โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างจะไม่สามารถรับภาระต่อได้จ้าเป็นต้องเลิกจ้างมากขึ้น และเด็กจบใหม่จะยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เพราะผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน
2) การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่การที่นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ ได้อย่างเต็มที่จะส่งผลให้ความรู้ที่ขาดหายไป ซึ่งจากรายงานผลกระทบของ COVID-19 ด้านสังคมของประเทศไทย โดย Oxford Policy Management และ United Nation ระบุถึงผลกระทบต่อการศึกษาว่า การที่เด็กไม่ได้เรียนเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน จะเกิดการสูญเสียทักษะทางการศึกษาเป็นเวลาถึง 1-1.5 ปี ขณะเดียวกันอาจทำให้เด็กมีทักษะลดลงด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET) เปรียบเทียบในปี 2562 และ 2563 ของนักเรียนในระดับชั้น ม.3 มีคะแนนเฉลี่ยลดลงเกือบทุกสาขาวิชายกเว้นวิชาภาษาอังกฤษ นอกจากนี้การปรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ยังทำให้โอกาสในการเรียนของเด็กระหว่างครัวเรือนรายได้น้อย และรายได้สูงมีความแตกต่างกันมาก โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุดยังขาดอุปกรณ์การเรียนจำนวนมาก ทำให้มีเด็กตกหล่นในการเรียนรู้นอกห้องเรียนประมาณ 8 หมื่นคน
3) วิกฤต COVID-19 ทำให้ครัวเรือนต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายเพื่อรักษาระดับการบริโภค และมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อครัวพยายามรักษาระดับการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินออมต่ำ โดยบัญชีเงินฝากที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท มียอดเงินฝากลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับบัญชีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาทที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า มูลค่าหนี้ ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 13.49 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 14.03 ล้านล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 ดังนั้นแม้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว การบริโภคของครัวเรือนจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก และจะกระทบปัญหาความยากจน เพราะครัวเรือนจะมีภาระในการชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนยากจนที่ในช่วงปี 2563 มีครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้ ถึง 5.9 แสนครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้เพียง 4.5 แสนครัวเรือน ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้แต่ด้วยหนี้ที่มีมูลค่าสูงครัวเรือนยังต้องรับภาระในการชำระหนี้ต่ออีกช่วงหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลในปี 2564 โดยเฉลี่ยครัวเรือนต้องใช้ระยะเวลา 10 ปีถึงจะช้าระหนี้หมด (ข้อมูลจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ครึ่งปี2564 ) ทั้งนี้ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด ณ ในไตรมาส2 ปี 2564 มูลค่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท
4) สถานการณ์ COVID-19 กระทบต่อคนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการช่วยเหลือเยียวยาและหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นน อาจทำให้รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต โดยในปี 2563 เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 7.09 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 1.36 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แม้จะไม่รุนแรง แต่ย้งวางใจไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเนื่องหลังโควิด-19 หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข อาจส่งผลให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และอาจกลายเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
อ้างอิง : ความยากจน-เหลื่อมล้ำของคนไทย ท่ามกลางโควิด “รุนแรง” ขนาดไหน? (tnnthailand.com)
ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน โดยสร้างโอกาสในการหารายได้ และปฏิรูปการใช้จ่ายภาษีและเงินโอนของภาครัฐ
ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และคาดว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง บทความนี้ได้วิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผลลัพธ์ โอกาส และผลกระทบ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับครัวเรือน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้ภาษีและรายจ่ายเงินโอนของภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เข้มแข็ง ทั่วถึง และยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว
ปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการขยายตัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นกระจกสะท้อนว่าครัวเรือนแต่ละกลุ่มจะได้รับผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วถึงมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลานานยังอาจบั่นทอนอัตราการเติบโตและเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจได้ บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำสามารถมองจากด้านใดได้บ้าง สถานการณ์ของไทยล่าสุดเป็นอย่างไร รวมถึงนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนไทยนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ และมีอะไรที่สามารถทำเพิ่มเติมได้บ้าง
ความเหลื่อมล้ำมองได้ 3 ด้าน : Outcome / Opportunity / Impact
ความเหลื่อมล้ำ (Inequality) สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งงานศึกษาของ UNESCAP (2018) ได้แบ่งนิยามความเหลื่อมล้ำออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
รูปที่ 1: Lorenz Curve ของไทย (2009 vs 2019)
ด้านผลลัพธ์ (Outcome)
สะท้อนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยนิยมวัดจาก 3 มิติ ได้แก่ รายได้ รายจ่ายเพื่อการบริโภค และความมั่งคั่ง ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถวัดได้หลายวิธี เช่น การหาค่า Gini Index / Coefficients ที่เปรียบเทียบข้อมูลหลายประเทศกันได้ การสร้าง Lorenz Curve ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำในแต่ละช่วงเวลา (รูปที่ 1) และการคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ รายจ่ายเพื่อการบริโภค หรือความมั่งคั่ง สำหรับครัวเรือนในแต่ละกลุ่มรายได้ในช่วงเวลาหนึ่งเทียบกับอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยการวัดความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์มักใช้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ
ด้านโอกาส (Opportunity)
พิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณสุข บริการทางการเงิน ข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยี รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ที่แตกต่างกันตามระดับรายได้ โดยความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสสามารถประเมินได้ทั้งในเชิงปริมาณ เช่น การนับจำนวนผู้มีสิทธิเข้าถึงการให้บริการขั้นพื้นฐานด้านต่าง ๆ และในเชิงคุณภาพ เช่น การวัดคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล
ด้านผลกระทบ (Impact)
1. ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อครัวเรือนต่างกัน เช่น เกิดน้ำท่วมเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในภาคใต้ลดลง และ
2. ปัจจัยภายในของครัวเรือนที่มีทรัพยากรพื้นฐาน (Endowment) ต่างกัน ทำให้แม้ครัวเรือนจะเผชิญ shocks ลักษณะเดียวกัน แต่อาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่น การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สามารถปรับตัวไปขายสินค้าผ่านช่องทาง online น้อยกว่าธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ หรือคนที่อาศัยในชุมชนแออัดและสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมมีโอกาสติดโรคระบาดได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำด้านผลกระทบจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตามล้วนยิ่งตอกย้ำความแตกต่างของโอกาสและผลลัพธ์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำทั้ง 3 ด้านเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยรูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่บรรเทาได้ด้วยการทำนโยบาย ยกเว้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากทรัพยากรพื้นฐานบางอย่าง เช่น ความสามารถโดยกำเนิด (innate ability) ที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนควรมุ่งไปที่ 2 ด้าน ทั้งการเพิ่มโอกาสและการสร้างเกราะลดแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกให้กับครัวเรือน
รูปที่ 2: การทำนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน
นโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน : เน้นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งส่งผลให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (รูปที่ 6) ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนกลุ่มที่ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด (1st Quintile) มีแหล่งรายได้หลักมาจากเงินโอนของภาครัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ต่อเดือนที่เป็นตัวเงินทั้งหมด สะท้อนว่าครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
รูปที่ 6: สัดส่วนที่มาของรายได้ที่เป็นตัวเงินของครัวเรือนไทย (หน่วย: ร้อยละ)\
การดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนอย่างยั่งยืน : มุ่งเพิ่มรายได้ครัวเรือน ควบคู่กับการปฏิรูปการใช้จ่ายด้านภาษีและเงินโอนของรัฐ
การออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแก่ครัวเรือนต้องทำเป็นระบบ ตั้งแต่การเพิ่มความสามารถในการหารายได้ทั้งจากการทำงานและการลงทุน (Labour and Capital Income) ให้กับครัวเรือน ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้ภาษีและรายจ่ายเงินโอนของภาครัฐ (Redistribution) โดย
– นโยบายเพิ่มรายได้ครัวเรือน วัดประสิทธิผลผ่านทุกช่องทางทั้งค่า Gross Inequality ที่คำนวณจากรายได้รวมของครัวเรือน (Household Market Income) และค่า Net Inequality ที่คำนวณจากรายได้ที่ใช้จ่ายได้ของครัวเรือน(Household Disposable Income) ซึ่งเท่ากับรายได้รวมหลังหักภาษีบวกกับเงินโอนที่ได้รับจากภาครัฐ
– นโยบายด้านภาษีและเงินโอน วัดประสิทธิผลจากส่วนต่างระหว่างค่า Gross และ Net Inequality เพื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครัวเรือนก่อนและหลังการดำเนินนโยบายด้านภาษีและเงินโอน โดยส่วนต่างที่มีค่ามากสะท้อนถึงการจัดเก็บภาษีที่ไม่ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำหรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้ภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการจ่ายเงินโอนของภาครัฐ
ซึ่งท้ายที่สุดการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบนี้จะให้ผลลัพธ์เป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Growth) ดังแสดงในรูปที่ 7
รูปที่ 7: กรอบแนวคิดการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนอย่างยั่งยืน
นโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหาในแต่ละจุด สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มรายได้ครัวเรือนนั้น
– ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ ต้องเน้นเพิ่มรายได้จากการทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเสียก่อน
– ครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลาง ให้เสริมความสามารถในการสร้างรายได้จากการลงทุนเข้าไป โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไปพร้อม ๆ กัน
ด้านการปฏิรูปการใช้จ่ายด้านภาษีและเงินโอนของรัฐ ควรเน้นทำนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรรายได้ภาษีและรายจ่ายเงินโอน (Redistributive Policy) เนื่องจากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายด้านภาษีและเงินโอนของไทย แม้จะบรรเทาความเหลื่อมล้ำได้ แต่น้อยกว่าของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป (แสดงด้วยแท่งส่วนที่เป็นสีส้มในรูปที่ 8 ซึ่งไทยมีน้อยกว่าหลายประเทศ) ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรส่งเสริมให้คนวัยทำงานออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายสวัสดิการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยแล้ว ยังเป็นช่องทางในการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐได้ด้วย
รูปที่ 8: Gross Inequality by Country (as of 2016)*
ไทยสามารถดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มเติมได้ทั้งในแง่ของ
1. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งพื้นฐานให้ครัวเรือน
การเพิ่มอัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแหล่งความรู้ (Access to Information & Knowledge) ให้กับครัวเรือนทั้งในเขตเมืองและชนบทผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งด้านการศึกษาและการหารายได้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าประชาชนในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (รูปที่ 9)
รูปที่ 9: สัดส่วนครัวเรือนไทยที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปี 2561 (หน่วย: ร้อยละ)
การปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในสถานศึกษา (Quality of Education) ที่ควรดำเนินการให้สอดคล้องกันในทุกพื้นที่และทุกระดับชั้น เพื่อป้องกันไม่เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งการลงทุนใน digital infrastructure น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง รวมถึงอาจพิจารณาอุดหนุนอุปกรณ์ hardware สำหรับการศึกษาพร้อมบริการอินเทอร์เน็ต เฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยอาจคัดกรองและรับรองกลุ่มที่ควรได้รับการอุดหนุนผ่านคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เข้าใจปัญหาระดับท้องถิ่น เช่น ครูหรือผู้บริหารในพื้นที่
2. การสร้างโอกาสในการหารายได้และเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพให้กับลูกจ้าง
– การเพิ่มโอกาสในการหางานทำ (Job Opportunities) อาทิ สร้างระบบเก็บข้อมูลแรงงานและติดตามสถานะการจ้างงานไว้รองรับการหางานทำ การเปลี่ยนงาน และการสร้าง platform ช่วยหางาน/ขายสินค้าและบริการทั้งในระบบและนอกระบบที่เอื้อต่อการหารายได้เสริมในระดับชุมชน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้จากหลายแหล่ง ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะอีกชั้นในการลดทอนผลกระทบจาก shocks ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
– การสร้างแรงจูงใจหรือให้รางวัล (Incentives & Rewards) ที่สอดคล้องกับแนวคิด upskill/reskill โดยนายจ้างต้องชี้ให้ลูกจ้างเห็นว่าทักษะใหม่ ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้จริง และสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะที่ทั้งตรงกับความต้องการขององค์กรและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของตัวลูกจ้างด้วย เช่น การส่งแรงงานที่มีฝีมือไปอบรมทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับวิศวกรชาวต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้
3. การเสริมประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้และเงินโอน
การปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษี (Tax Reform) โดยเรียกเก็บภาษีที่ดินและมรดกในอัตราที่สูงขึ้น รวมทั้งขยายฐานภาษีด้วยการสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้เพียงพอสำหรับรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่จะช่วยให้ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยสามารถสร้างรายได้ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐในระยะยาว
ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย
ที่ผ่านมาปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยแม้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สะสมมาเป็นเวลานานย่อมมีส่วนบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคาดว่าหลังวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดผ่านทั้งด้านรายได้และการศึกษา
การลดความเหลื่อมล้ำนับเป็นนโยบายเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยง่าย และต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมานโยบายการแก้ปัญหายังมุ่งไปที่ปลายเหตุ และไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า นโยบายลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงควรให้น้ำหนักกับนโยบายการเพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับครัวเรือน และการปฏิรูปการใช้จ่ายด้านภาษีและเงินโอน ซึ่งหากทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าว และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เข้มแข็ง ทั่วถึง และยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว
อ้างอิง : ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน | PIER