ฉบับเดือนสิงหาคม2565

เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงดี/เลี้ยงเดียวไหว ถ้าใจแข็งแรง

(Strong Single Parent)

ครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว เรียกว่า “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นรูปแบบครอบครัวร่วมสมัยที่พบเจอได้ทั่วไป ทั้งในประเทศไทยของเราและในบ้านเมืองอื่น แตกต่างจากในอดีต ถ้าพูดถึงครอบครัว เรามักจะนึกถึงแต่การอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก หรือการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลากรุ่นหลายวัย ถึงแม้ “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบที่หลากหลายของครอบครัวในปัจจุบัน แต่ถ้าเราเองมีอันจะต้องปรับตัวเปลี่ยนบทบาทเป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” หรือ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็คงเป็นเรื่องชวนให้จิตใจสั่นไหวอยู่ดี

ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว อาจมีสาเหตุมาจากการหย่าร้าง แยกทาง ทอดทิ้งกันไปโดยไม่บอกกล่าว รวมไปถึงการลาลับดับสูญของคู่ชีวิต ความน่าหวาดหวั่นของการเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องจิตใจ อารมณ์ สังคม ไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ การเลี้ยงดูลูก รายรับรายจ่าย การงานอาชีพ และอาจมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกประเด็นจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะรับมือได้อย่างเหมาะสม

“เลี้ยงเดี่ยว” เตรียมตัวได้

1. จิตใจ อารมณ์ สังคม

ความวิตกกังวล สับสน สูญเสีย โศกเศร้า โดดเดี่ยว เครียด เคียดแค้น อาฆาต และอาจคิดว่านี่คือความล้มเหลวในชีวิตคู่ ล้วนเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แตกต่างกันไปตามบริบทและสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญ
ทางออก ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับครอบครัว รวมทั้งยอมรับความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะเรากำลังเจอกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่อเค้าว่าชีวิตน่าจะลำบากทุลักทุเลกว่าเดิม ตามธรรมชาติแล้ว ความรู้สึกต่างๆ พอเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปเอง อย่าพยายามดึงรั้งมันไว้ มองหากิจกรรมหรือพูดคุยกับคนที่จะช่วยเสริมพลังบวกให้เราได้ แต่ถ้ารอนานแล้ว ความรู้สึกเชิงลบยังวนๆ เวียนๆ ไม่ผ่านไปเสียที เบื้องต้น อาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วน 1323 ที่กรมสุขภาพจิต จัดไว้บริการประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ความปั่นป่วนภายในใจ บ่อยครั้งเป็นผลจากปัจจัยภายนอก เช่น คนรอบข้าง ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า สังคมมีค่านิยมบางอย่าง เช่น มองการหย่าร้างเป็นเรื่องแย่ หรือแม้แต่ชี้นิ้วทันทีว่าเพราะผู้หญิงไม่ดีแน่ๆ ผู้ชายถึงทิ้งไป วิธีคิดแบบนี้มักนำมาสู่คำถามให้ต้องตอบซ้ำซาก ซึ่งถ้าคิดดีๆ ป้าข้างบ้าน คนที่ทำงาน เพื่อนเก่าที่ 20 ปีเจอกันที ฯลฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา
ดังนั้น ถ้าไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะ เราก็ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้โลกรู้ แค่ทำใจร่มๆ ตอบคำถามตามความจำเป็น ด้วยความหนักแน่นและนุ่มนวล โดยไม่ต้องหวั่นไหว

2. ชีวิตความเป็นอยู่

จากที่เคยอยู่กันพ่อแม่ลูก ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนไป แยกกันอยู่แล้ว ใครจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าต้องหาที่อยู่ใหม่ ที่ทำงานของเรา โรงเรียนของลูก จะเดินทางกันอย่างไร ความท้าทายในชีวิตของแต่ละคนย่อมจะแตกต่างกันไป
ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิดไม่ออกแน่ เครียดมาก อย่าเก็บตัวอยู่คนเดียว อย่าซ่อนตัวเองจากโอกาส เพราะอาจมีคนที่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่หน่วยงานมืออาชีพ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งอาจมีทางออกที่ตรงกับโจทย์ของเรา เบื้องต้น ลองสอบถามข้อมูลที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300

3. การเงินการงาน

ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีคนหารค่าใช้จ่าย แถมรายได้จากคูณสอง ตอนนี้ก็จะเหลือแค่ขาเดียว สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือการวางแผนรายรับรายจ่าย พอไหวหรือยังขาด จำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม หรือเติมทักษะการทำงานหรือเปล่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการจัดอบรมทักษะอาชีพให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว ในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งในจังหวัดต่างๆ อาจลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ ส่วนการทำงาน ประเมินดูแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เช่น เดิมมีคนไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าตอนนี้ต้องไปรับส่งเองจะทำอย่างไร พูดคุยกับหัวหน้างานได้ไหม ปัจจุบันองค์กร/สถานประกอบการมีแนวโน้มในการยืดหยุ่นเรื่องเวลาให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าแต่ละคนล้วนแต่มีภาระเรื่องครอบครัว
นอกจากนี้ แม้จะแยกย้ายไม่เป็นสามีภรรยากันแล้ว แต่ความรับผิดชอบเรื่องลูกยังอยู่ ฝ่ายที่จะแยกตัวไปโดยไม่เอาลูกไปด้วยจะสมทบค่าใช้จ่ายแค่ไหน อย่างไร ตรงนี้ต้องเจรจาหาข้อตกลงกัน และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย

4. กฎหมาย ใช้ให้เป็น

การเลิกราแยกทาง มีความแตกต่างระหว่างคู่ที่จดทะเบียนสมรส และไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งทั้งสองแบบทั้งสองควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การแยกกันอยู่ชั่วคราว การจดทะเบียนหย่า การฟ้องหย่า การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิการดูแลหรือการติดต่อลูก ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องราวมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขึ้นกับเงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว มีหลายหน่วยงานที่บริการคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชน อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157

สร้างสรรค์บทความโดยความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

ที่มา : เตรียมตัวเป็น “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” – Family-Friendly Workplace (ffwthailand.net)


ที่มา : พม.รับลูกนโยบายนายกฯ แก้ปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวเปิดคลินิกทั่วประเทศ | สยามรัฐ | LINE TODAY


10 เทคนิค เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข สไตล์พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

เทคนิคการเลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุขที่ทุกครอบครัวสามารถนำมาปฏิบัติร่วมกันได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเลี้ยงดู เพราะไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีความสมบูรณ์พร้อม พ่อ และแม่ทุก ๆ คนก็ล้วนต้องการเห็นลูกของตนเองเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเทคนิคในการเลี้ยงลูกให้เก่ง ดี และมีความสุขนั้น สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ คือ

  • เลี้ยงลูกแบบเปิดกว้าง
    เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ ค้นหาความสามารถของตนเอง ตามความสนใจ และความถนัด โดยคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นเพียงผู้สนับสนุน ให้คำแนะนำ และให้โอกาสเขาได้ทำตามความต้องการ
  • ให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่น
    ให้เขาได้เล่นสนุกตามวัยของตนเอง ยิ่งถ้าคุณพ่อ หรือคุณแม่ เป็นส่วนหนึ่งในการเล่นของลูกได้ ก็จะยิ่งช่วยให้เขารู้สึกถึงความอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกเหมือนพ่อหรือแม่ คือส่วนสำคัญในแต่ละก้าวการเรียนรู้ของเขาเสมอ
  • สอนให้ลูกรู้จักการเข้าสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
    สอนให้เขารู้จักรักผู้อื่น เช่นเดียวกับการรักตนเอง สอนให้รู้จักพูดคำว่า “ขอบคุณ” “ขอโทษ” เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างบุคคล เด็กๆควรได้รับการปลูกฝังนิสัยการแบ่งปัน และการให้อภัย รู้จักการใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์
  • อย่าเลี้ยงลูกราวกับเป็นไข่ทองคำในหิน
    พ่อหรือแม่เป็นผู้เก็บรักษา ทนุถนอม และตีกรอบป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกทุกๆด้าน จนลูกไม่กล้าที่จะต่อสู้ ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆด้วยตัวเอง
  • เป็นพลังบวกให้ลูกเสมอ
    แม้จะคอยดูอยู่ห่างๆ แต่อย่าปล่อยให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว คอยประคับประคองเมื่อเขาล้ม คอยให้กำลังใจเวลาที่เขารู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง คอยเป็นกำลังใจ และพร้อมจะยืนเคียงข้างลูกเสมอ เมื่อเขาต้องการคุณ
  • การให้เวลากับลูก
    ทั้งในเรื่องการปรับตัว การเรียน การเล่น การทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงหน้าที่เล็กๆ น้อยที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ได้ เช่น ช่วยล้างจาน ช่วยทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
  • ไม่เครียด ไม่กดดัน
    รวมถึงไม่ตั้งเป้าหมายไว้กับลูกจนสูงเกินเอื้อม ด้วยการบังคับให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการที่พ่อ หรือแม่ คิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา แต่ควรสนับสนุน ผลักดัน ส่งเสริมให้ลูกเกิดความมั่นใจ ในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่ต้องคิด และตัดสินใจ
  • โภชนาการอาหารที่ดี
    และมีคุณค่าเหมาะสมกับวัยของเด็ก ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง สุขภาพดี และมีความสุขด้วยเช่นกัน
  • ห้ามเปรียบเทียบ
    ไม่ควรเปรียบเทียบลูกคุณกับลูกของคนอื่นโดยเด็ดขาด! เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง เกิดเป็นความประหม่า น้อยเนื้อต่ำใจ และกลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเองในที่สุด ที่สำคัญคือการใช้คำพูด และการแสดงอารมร์ของคุณพ่อ หรือคุณแม่ ควรใช้คำพูดที่อ่อนโยน สุภาพ เสริมสร้างกำลังใจ แทนที่จะใช้คำพูดที่รุนแรง ก้าวร้าว ด่าทอ เพราะคำพูดต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อพฤติกรรม และจิตใจของลูกอย่างมาก เมื่อเขาเติบโตขึ้น
  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น
    พ่อแม่เปรียบเสมือกระจกบานใหญ่ ที่ลูกมองเห็นอยู่ทุกวัน เมื่อเขาเห็นสิ่งใดในกระจก เด็กๆก็จะเกิดการจดจำ และเริ่มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ซึ่งคงไม่ดีแน่ หากคุณพ่อคุณแม่จะแสดงความโกรธ ความก้าวร้าว ดุดัน เกรี้ยวกราด ให้ลูกได้เห็น เพราะนั่นจะเป็นการปลูกฝังนิสัยเช่นนี้ลงในหัวใจของเด็กๆและเมื่อถึงวัยหนึ่งเขาก็จะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ออกมาบ้าง เมื่อความต้องการไม่สมดังความปรารถนา และแน่นอนว่า ช่องว่างระหว่างคุณกับลูกก็จะยิ่งขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ เพราะกระจกที่คุณสร้างมันขึ้นมา นั่นเอง

ที่มา : 10 เทคนิค เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข สไตล์พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว – simplymommynote

ใส่ความเห็น