ฉบับเดือนเมษายน 2565

ครอบครัวดี สังคมมีสุข (Happy family Happy society)

ความหมายของคำว่าครอบครัว

คำว่า ครอบครัว หากให้ความหมายตามลักษณะทางพันธุศาสตร์ จะระบุเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดเป็นหลัก แต่หากกล่าวกันในทางสังคมแล้ว ครอบครัว ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีสายเลือดเดียวกันเท่านั้น ในความเข้าใจโดยรวมของสังคมปัจจุบัน คำว่า ครอบครัว ยังหมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชายคาเดียวกัน อาจมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีปฏิสัมพันธ์กัน มีความห่วงใย ใส่ใจ ดูแลกัน เอื้ออาทรและปรารถนาดีต่อกัน แม้บางคราวอาจจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่เมื่อสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งต้องห่างไกลไป ก็ยังมีความห่วงใยอาทร และมีความอบอุ่นคุ้นเคยทุกครั้งที่พบเจอ อีกทั้งยังทำให้รู้สึกว่าต่างก็เป็นที่พึ่งพาอาศัยและให้คำปรึกษากันได้ อย่างนี้ก็นับว่าเป็นครอบครัวได้เช่นกัน

รูปแบบที่หลากหลายของการเป็นครอบครัวในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนเรามักจะแยกประเภทของครอบครัวได้สองแบบคือ
ครอบครัวเดี่ยว คือครอบครัวที่มีสามีภรรยาและลูกอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งการสร้างครอบครัวเดี่ยวก็หมายถึงสามีภรรยาแต่งงาน แล้วแยกจากบุพการีของแต่ละฝ่ายออกมาสร้างครอบครัวของตนเอง
ครอบครัวขยาย ส่วนมากมักจะเกิดจากการที่สามีหรือภรรยาอาศัยอยู่กับบุพการีของตนอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้แต่งงานจึงพาคู่สมรสของเข้ามาอยู่ด้วย ครอบครัวแบบนี้จึงมีความสัมพันธ์ทั้งปู่ย่าตายายและพ่อแม่ลูกรวมกัน

แต่ปัจจุบันรูปแบบครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสภาพสังคม ทำให้เราพบเห็นการสร้างครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปได้อีกดังนี้
ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ชายเท่าสมัยก่อน การหย่าร้างหรือแยกทางจึงเพิ่มขึ้น คู่รักบางคู่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาแล้วให้กำเนิดบุตรโดยที่ไม่ได้แต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อมีปัญหาชีวิตคู่ก็อาจเลิกรากันไปโดยทิ้งลูกให้อีกฝ่ายดูแล หรือปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรก็อาจทำให้เกิดกรณีพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวได้เช่นกัน
ครอบครัวขยายข้ามรุ่น หมายถึงการอยู่ร่วมกันแบบข้ามรุ่น มักจะเกิดจากคู่สามีภรรยาอาจมีเหตุทำให้ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ จึงให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ครอบครัวลักษณะนี้จึงเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ข้ามรุ่นก็คือปู่ย่าตายายกับหลานนั่นเอง ครอบครัวที่เป็นญาติกัน อาจจะมีสาเหตุคล้ายกับครอบครัวข้ามรุ่น แต่กรณีนี้เป็นลุงป้าน้าอาดูแลหลาน
ครอบครัวที่เป็นคู่รักร่วมเพศ สังคมยุคนี้ยอมรับคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันมากขึ้น การแต่งงานอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลัก แต่คือการอยู่เคียงข้างกัน และดูแลซึ่งกันและกัน ดังนั้นการใช้ชีวิตคู่ของหนุ่มสาวรักร่วมเพศจึงนับเป็นการสร้างครอบครัวอย่างหนึ่ง
ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ อาจเป็นการไปขอเด็กที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดกับตนมาเลี้ยง หรืออาจเป็นครอบครัวในลักษณะที่ทุกคนมีความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนมาใช้ชีวิตร่วมกันและดูแลกันก็ได้

ความสำคัญของครัว

เป็นแหล่งช่วยเหลือเยียวยาเมื่อสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือประสบปัญหาวิกฤติในชีวิตด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ คนในครอบครัวจะคอยอยู่เคียงข้างและดูแลให้กำลังใจเพื่อให้สมาชิกได้ผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายนั้นไปได้ด้วยดี
หากเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกเกิดใหม่หรือมีการรับเด็กมาเลี้ยง ครอบครัวจะมีหน้าที่อบรม เลี้ยงดู ให้ความรักความเมตตาแก่เด็ก รวมถึงจัดการหาสถานศึกษาให้พร้อม แต่ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือครอบครัวจะเป็นผู้วางรากฐานทางทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้กับเด็กก่อนที่เด็กจะได้เข้าโรงเรียนเสียอีก ครอบครัวจึงถือเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่สุดซึ่งมีผลต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้รวมถึงการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็ต้องอาศัยสถาบันครอบครัวเช่นเดียวกัน เนื่องจากครอบครัวเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ต้องใช้การอุปโภค บริโภค รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งนอกจากครอบครัวจะเป็นผู้บริโภคแล้วยังเป็นผู้ผลิตทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นปลูกฝังค่านิยมในการบริโภคต้องเกิดขึ้นในครอบครัวเป็นอันดับแรก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงต้องอาศัยครอบครัวเป็นส่วนสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

เคล็ดลับเมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว

เมื่อเกิดปัญหาควรแก้ไขทันที อย่าพยายามกลบเกลื่อนปัญหาด้วยการตัดบท ตัดพ้อ ประชดประชัน หากกำลังอารมณ์ร้อนก็ควรอดทนให้ผ่านไปก่อน เมื่ออารมณ์เย็นแล้วจึงหันหน้ามาคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าแกล้งปล่อยผ่านอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำเดิม หากเกิดปัญหาซ้ำเดิมบ่อย ๆ จะสะสมจนกลายเป็นความเย็นชาต่อกัน ทำให้ไม่อยากมองหน้าไม่อยากสื่อสารกัน รู้สึกว่าอีกฝ่ายทำอะไรก็ผิดไปหมด พูดอะไรก็ไม่เข้าหู จนหาสาเหตุไม่ได้ว่าเพราะอะไรจึงกลายเป็นแบบนี้ เนื่องจากปล่อยให้ปัญหาเล็ก ๆ สะสมมายาวนานจนไม่รู้ว่าความรู้สึกได้เริ่มถูกกัดกร่อนไปทีละน้อยตั้งแต่ตอนไหน มารู้ตัวอีกทีก็หมดใจกันไปแล้ว ในบางรายอาจสะสมจนเกิดการระเบิดครั้งใหญ่เป็นความแตกหักเสียหายได้เลยทีเดียว

ที่มา : ครอบครัว หมายถึง? | วิธีสร้างครอบครัวที่อบอุ่น คำคมครอบครัว – HUAPOOD


ครอบครัวจะมีความสุขด้วย  5 สิ่งที่คนในครอบครัวควรจะมีให้แก่กันเสมอ

“บ้านที่มีความสุขไม่จำเป็นต้องหลังใหญ่ ขอแค่อยู่แล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจก็พอแล้ว” สุขสันต์วันครอบครัวค่ะคุณพ่อคุณแม่ทุกคน ไม่ว่าใครๆ ก็อยากให้ครอบครัวของเรามีความสุขใช่ไหมล่ะค่ะ เพียงแต่ว่าความปรารถนาเหล่านั้นจะไม่มีวันเป็นจริง หากคนในครอบครัวสนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจซึ่งกันและกัน ครอบครัวจะมีความสุขได้ขึ้นอยู่กับทุกคนในครอบครัวนะคะ วันนี้เรามาทำให้ความสุขเกิดขึ้นกันดีกว่าค่ะ

ไม่จำเป็นจะต้องชนะทุกเรื่องก็ได้
คนในครอบครัวไม่ใช่คู่ต่อสู้นะคะทุกคน เวลาที่เราเถียงกันเรื่องเล็กๆ น้อย หรือทะเลาะกัน เราไม่จำเป็นจะต้องเอาชนะก็ได้ เพราะเพียงแค่ความโมโหหรืออยากเอาชนะก็ทำให้เราเลือกใช้คำพูดที่รุนแรง และบั่นทอนหัวใจของอีกฝ่าย จนลืมไปว่า คำพูดสามารถฆ่าหัวใจของคนได้เลย เราหันมาพูดดีๆ ทำเป็นยอมแพ้ดูบ้างเถอะนะคะ 

ให้ความรัก ความห่วงใยกันและกัน
ครอบครัวเป็นสถานที่ที่อบอวลไปด้วยความรัก การมอบความรัก ความห่วงใย และความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน อีกฝ่ายย่อมรับรู้ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักเลือกใช้และแสดงให้เห็นอย่างอ่อนโยน เช่น ถ้าคุณสามีกลับบ้านดึก แล้วเราใช้คำพูดแสดงความเป็นห่วงเป็นใย ก็คงจะดีกว่าการตะคอกถามว่าทำไมกลับบ้านดึก จริงไหมล่ะคะ

เข้าใจในธรรมชาติของแต่ละคน
แต่ละคนย่อมมีนิสัย บุคลิกและทัศนคติที่แตกต่างกัน เราคงไม่สามารถบังคับให้ใครต่อใครมาเหมือนเราได้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือการยอมรับ และเข้าใจในตัวตนอีกฝ่าย อะไรที่เราไม่ชอบก็ลองคุยกันว่าจะปรับกันได้ไหม ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องอาศัยการเปิดใจ และรู้จักที่จะปรับจูนเข้าหากัน

รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ หลายๆ ครอบครัวมีปัญหาเพราะไม่ยอมรับฟังกัน เอาแต่ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ คิดว่าสิ่งที่เราคิดคือสิ่งที่ถูกต้องแน่นอน จนอาจลืมไปว่าแต่ละคนก็มีความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดของคนอื่นบ้าง ลองถามในมุมมองที่แตกต่างออกไป เพื่อที่จะเข้าใจอีกฝ่ายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ
เรื่องสุดท้ายที่จะสร้างครอบครัวที่มีความสุข คือการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันค่ะ คุยกันเยอะๆ หากิจกรรมทำด้วยกันเยอะๆ เหมือนตอนที่เริ่มต้นจีบกันใหม่ๆ เชื่อว่าทุกคนน่าจะยังจำความหวานในช่วงเวลานั้นได้ ขนาดเมื่อก่อน ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน แทบจะไม่มีวลาเจอกัน ยังเสาะหาเวลามาเจอกันได้ ดังนั้นเมื่อเราได้อยู่ด้วยกัน เป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ก็ต้องใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่า เพราะไม่มีใครรู้ว่า อนาคตข้างหน้าเราจะยังมีคนๆ นี้ เดินอยู่ข้างๆ ไปอีกนานแค่ไหน

ที่มา : ครอบครัวจะมีความสุขด้วย  5 สิ่งที่คนในครอบครัวควรจะมีให้แก่กันเสมอ (parentsone.com)


ลดความขัดแย้งในครอบครัว อย่างสร้างสรรค์

ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะความขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในบ้านเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว ซึ่งปัญหาความขัดแย้งอาจะบานปลายจนกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

วิธีรับมือความขัดแย้งในครอบครัวอย่างสร้างสรรค์

1. กล่าวขอโทษก่อนและรู้จักให้อภัย เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว แต่สิ่งที่จะช่วยเยียวยาให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว เกิดความเข้าใจและอบอุ่นดังเดิม คือ ความกล้าที่จะขอโทษและให้อภัยซึ่งกัน หากสถานการณ์ตึงเครียดมาก มีปากเสียงรุนแรง อาจต้องรอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วจึงเอ่ยคำขอโทษ อย่าปล่อยให้ความไม่เข้าใจสะสม ค้างคา จนทำให้เกิดความเกลียดชังจากทิฐิและเกิดความขัดแย้งจนยากที่จะแก้ไข

2. รู้จักควบคุมอารมณ์ เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเองหรือมีความคิดเห็นคนละมุมมอง แต่จะเกิดเป็นปัญหาเมื่อไม่รู้จักเก็บอารมณ์เมื่อเกิดความรู้สึกโกรธ เสียใจ ดังนั้นหากไม่อยากให้ครอบครัวหันหน้าออกจากกัน ต้องรู้จักใช้เหตุผล หลีกเลี่ยงการโต้เถียงและไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ถ้าทนไม่ไหวต่อการยั่วยุจริง ๆ ให้หลีกเลี่ยงการลงไม้ลงมือหรือใช้ความรุนแรง โดยการเดินหนีไปสักระยะหนึ่ง เมื่อหายโกรธค่อยกลับมาพูดคุยกันโดยไม่ใช้อารมณ์

3. หาเวลาพูดคุยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา การเผชิญและก้าวผ่านปัญหาครอบครัวคงเป็นเรื่องยากหากสมาชิกคนใดคนหนึ่งทำเพียงลำพัง แต่เมื่อสมาชิกทุกคนช่วยกันก็จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น หาเวลาที่ทุกคนสะดวกเพื่อพบปะพูดคุยกัน ให้สมาชิกทุกคนรู้ถึงจุดประสงค์ของการพบปะพูดคุยและมีส่วนร่วมในการเสนอคำแนะนำและวิธีแก้ปัญหาภายในครอบครัว ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนพูดถึงสิ่งที่คิดออกมาตรง ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และควรคำนึงถึงเรื่องที่จะพูดคุยกันว่าเหมาะที่เด็กเล็กจะเข้ารับฟังด้วยหรือไม่ เพราะอาจเกิดการถกเถียงและใช้อารมณ์ โดยเฉพาะในยามที่เผชิญกับปัญหา

4. ยอมรับและเคารพความคิดเห็นของสมาชิกในบ้าน การยอมรับความคิดเห็นคือการแสดงให้เห็นว่า รับรู้ เห็นคุณค่า และยอมรับความคิด ความเห็น หรือ ความเชื่อของผู้อื่น ถึงแม้ความเห็นของสมาชิกแต่ละคนจะแตกต่างกัน คำพูดปิดท้ายการพูดคุยที่บอกว่า “ขอบใจทุกคนที่มาช่วยกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา” จะยิ่งช่วยให้สมาชิกในครอบครัวอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น

5. กำหนดกฎ ข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในบ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเข้าใจที่ตรงกันของทุกคนในครอบครัว เช่น กำหนดเวลาการกินอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว การแบ่งหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ ของแต่ละคนที่ต้องช่วยเหลือกัน กำหนดเวลาการกลับบ้านของลูกวัยรุ่นที่ไม่ทำให้ผู้ใหญ่เป็นห่วง

6. หาทางการเลี้ยงดูเด็กเล็กร่วมกัน พ่อแม่วัยทำงานอาจมีแนวทางการเลี้ยงลูกแบบสมัยใหม่ ในขณะที่ผู้สูงวัยอาจเคยเลี้ยงเด็กในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเลี่ยงการเกิดปัญหาที่ไม่เข้าใจกัน ควรทำการตกลงเรื่องแนวทางการเลี้ยงเด็กที่ต้องการอย่างชัดเจนเสียก่อน หรืออาจจะพบกันครึ่งทาง ประยุกต์ทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ต่อเด็ก

ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นภายในครอบครัว คนในบ้านควรร่วมมือกันจัดการปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ชีวิตครอบครัวราบรื่น และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้

ที่มา : ลดความขัดแย้งในครอบครัว อย่างสร้างสรรค์ – Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ครอบครัวแหว่งกลาง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือน

รูปแบบครัวเรือนในปัจจุบันจะเห็นได้ว่านั้นมีอยู่หลายรูปแบบ บางครอบครัวอาจจะเป็นครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าแบบครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และหลาน ส่วนบางครอบครัวอาจจะเป็นครอบครัวเล็กมีแค่พ่อแม่ และลูก บางครอบครัวอาจจะเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่เพียงคนเดียวก็สามารถพบเห็นในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน

โครงสร้างของครอบครัวนั้นย่อมส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อสถาบันครอบครัวในชนบท ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด เช่น ครอบครัวที่เป็นในลักษณะของครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งรุ่นพ่อแม่ได้ออกจากภาคการเกษตรเพื่อย้ายไปทำงานในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่มีการพึ่งบุคคลวัยแรงงานเพื่อทำการเกษตรของครอบครัว จึงได้มีการวิจัยถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่มีผลต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในชนบท

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือน

ในช่วงก่อนปี 2513 อัตราการเจริญเติบโตของประชากรไทยอยู่ในระดับที่สูงมากซึ่งถูกมองว่าอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศที่จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศเพิ่มน้อยลง รัฐบาลจึงได้มีการกำหนดนโยบายลดอัตราเพิ่มประชากร ซึ่งการที่ภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่องก็ได้ส่งผลให้ขนาดครอบครัวของไทยโดยเฉลี่ยลดลง ส่งผลให้โครงสร้างครอบครัวและการพึ่งพาอาศัยระหว่างบุคคลในครอบครัวได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และจากรูปแบบนโยบายการพัฒนาประเทศตั้งแต่ช่วงปี 2504 เป็นต้นมาที่รัฐบาลได้มีการสนับสนุนการเข้ามาของทุนต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีและตลาดส่งออก

กระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากร ออกจากภาคการผลิตที่ให้ผลตอบแทนต่ำ คือ ย้ายออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในชนบทที่ได้มีการอพยพออกไปของวัยแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวในชนบทที่ต้องอาศัยรายได้จากการเกษตร เช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้

เป็นที่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆดังกล่าวนั้น ได้ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบโครงสร้างครอบครัว การดำเนินชีวิตของบุคคลภายในครอบครัวแต่ละรูปแบบก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงวางแนวทางการแก้ไขปัญหา

รูปแบบครัวเรือนในไทย

จากข้อมูลในงานวิจัยได้มีการแบ่งประเภทของครัวเรือนออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

1. ครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว คือครัวเรือนที่มีสมาชิกเพียงคนเดียว
2. ครัวเรือน 1 รุ่น คือครัวเรือนที่ประกอบไปด้วยสามีและภรรยา รวมถึงคนในรุ่นเดียวกัน
3. ครัวเรือน 2 รุ่น คือครัวเรือนที่ประกอบไปด้วยรุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกเป็นหลัก
4. ครัวเรือน 3 รุ่น คือครัวเรือนที่ประกอบไปด้วยคน 3 รุ่นคือ รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นหลานเป็นหลัก
5. ครัวเรือนแหว่งกลาง คือครัวเรือนที่ประกอบไปด้วยคน 2 รุ่นคือ รุ่นปู่ย่าตายาย และรุ่นหลาน ส่วนรุ่นพ่อแม่นั้นขาดหายไป

รูปแบบของครอบครัวนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยผลกระทบของปัจจัยด้านประชากรนั้นได้แก่ การเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ซึ่งส่งผลให้รูปแบบของแต่ละครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไข

จากงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของปัจจัยประชากรต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในชนบท” ที่ได้ทำการศึกษา การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรครอบครัวในชนบท โดยใช้วิธีวิเคราะห์สถานการณ์ และข้อเท็จจริงว่าสังคมในชนบทมีโครงสร้างครัวเรือนแบบใด แต่ละแบบมีมากน้อยเพียงใดและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมถึงมีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ซึ่งได้ผลการศึกษาดังนี้

ข้อมูลที่สรุปเป็นภาพรวมของประเทศนั้นพบว่า ครัวเรือน 2 รุ่นมีจำนวนสูงสุด รองลงมาคือครัวเรือน 3 รุ่น แต่ทั้งสองแบบข้างต้นมีแนวโน้มที่จะลดลง ส่วนครัวเรือน 1 รุ่นนั้นมีมากเป็นอันดับที่สาม แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สองลำดับสุดท้ายคือครัวเรือนแบบแหว่งกลางและแบบอยู่คนเดียว และทั้งสองแบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคือการย้ายเข้า-ออก การย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่เป็นการย้ายเข้าไปประกอบอาชีพในเมือง ซึ่งจากสถิติก็ได้พบว่าสัดส่วนประชากรในส่วนของวัยทำงานหลัก และสัดส่วนในช่วงของวัยทำงานช่วงสุดท้ายนั้นมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงการเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีการวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

ภาพรวมของสภาพความเป็นอยู่ของครัวเรือนแต่ละแบบโดยวัดจากค่าใช้จ่ายในการบริโภคและรายได้ต่อหัว พบว่าครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว และแบบที่ 1 มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด รองลงมาคือครัวเรือนแบบ 3 รุ่น ในขณะที่ครัวเรือนแบบแหว่งกลางมีสภาพความเป็นอยู่แย่ที่สุด ครัวเรือนแบบแหว่งกลางนี้หากไม่ได้รับรายได้จากคนรุ่นที่ 2 ที่ออกไปทำงานในภาคเศรษฐกิจอื่นนั้นจะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในระดับที่เป็นอยู่

การที่จะทำให้ครัวเรือนแต่ละประเภทนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ครัวเรือนแบบแหว่งกลางนั้นเป็นเป้าหมายที่ควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากทั้งรุ่นปู่ย่าตายาย และรุ่นหลานนั้นถือเป็นบุคคลที่มีอัตราการพึ่งพิงสูงที่สุด รัฐอาจจะมีการช่วยเหลือในรูปแบบของเงินโอนโดยคำนวณจากอัตราส่วนของการมีผู้พึ่งพิงในแต่ละครัวเรือนเป็นหลัก และในขณะเดียวกันเรื่องของจำนวนเงินโอนช่วยเหลือยังจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพราะหากน้อยไปก็ไม่ได้ช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นมากนัก แต่หากให้มากเกินไปก็อาจเป็นแรงจูงใจให้ครัวเรือนประเภทอื่นเปลี่ยนมาเป็นครัวเรือนแบบแหว่งกลาง ซึ่งจะเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์ในเชิงนโยบาย

ที่มา : โครงการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของปัจจัยประชากรต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในชนบท” โดย อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ (2559) สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ครอบครัวแหว่งกลาง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือน (researchcafe.org)


กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว

 ครอบครัวเป็นสถาบันขั้นพื้นฐานและเป็นสถาบันหลักของสังคม ครอบครัวจึงประกอบไปด้วย สามี ภรรยา บุตรและญาติ กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจึงเป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ดังนั้น หลักกฏหมายที่ใช้โดยทั่วไปอาจนำมาใช้กับกฏหมายครอบครัวไม่ได้ กฏหมายครอบครัวจึงเป็นกฏหมายที่อ้างอิงหลักศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุด เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้น การสมรส การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีและภรรยา การปกครองบุตร ทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยา ตลอดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมรดก เป็นต้น
1. การหมั้น ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้นโดยสรุปได้ดังนี้การหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้หญิง การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 บริบูรณ์แล้ว 
ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ กล่าวคือ เมื่อหมั้นกันแล้วฝ่ายหนึ่งไม่ยอมสมรสด้วย อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับไม่ได้ แต่อาจฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายได้ 
กฎหมายมิได้บัญญัติว่าจะทำการสมรสได้ต่อเมื่อมีการหมั้นกันก่อน ฉะนั้นชายหญิงอาจทำการสมรสกันโดยไม่มีการหมั้นก็ได้ 
1.1 องหมั้น เป็นทรัพย์สินของฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง ถ้าฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย
1.2 สินสอด เป็นทรัพย์สินของฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤิตการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ 

2. การสมรส การสมรสหมายถึง การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินกันฉันสามีภริยา ชั่วชีวิตโดยจะไม่เกี่ยวข้องทางชู้สาวกับบุคคลอื่นใดอีกซึ่งตามกฏหมายปัจจุบันนั้น กำหนดว่า การสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรสจึงจะมี ผลตามกฏหมาย 
เงื่อนไขการสมรส การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ เช่น ชายหรือหญิงหรือทั้งสองคนอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ แต่มีความจำเป็นต้องทำการสมรสเพราะต้องเดินทางไปต่างประเทศในฐานะครอบครัวที่เป็นสามีภรรยากัน ศาลอาจเห็นสมควรอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ 
ข้อห้ามมิให้ทำการสมรส 
1. ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ 
2. ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดา มารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา กรณีเช่นนี้ลูกพี่ลูกน้องแม้จะใช้ชื่อสกุลเดี่ยวกันก็อาจจะทำการสมรสกันได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามไว้ 
3. ชายหรือหญิงขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว 
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ การสมรสจะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี การจดทะเบียนสมรส ตามปกติแล้วจะจด ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่เขนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิเลาอยู่ 

3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
สามีภรรยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู กันตามความสามารถและฐานะของตน ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ถ้าสามีภริยาได้ทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินไว้เป็นพิเศษอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็น “สินส่วนตัว” ย่อมเป็น “สินสมรส” 
สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หาที่เป็นของหมั้นสินส่วนตัวของฝ่ายใดถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นซื้อทรัพย์สินอื่นมาหรือขายได้เป็นเงินมา ทรัพย์สินอื่น หรือเงินนั้นเป็นส่วนตัวของฝ่ายนั้น สินส่วนตัวของฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ 
สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบถว่าเป็นสินสมรสที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

ที่มา : กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว – athiwatLawyer.com

ใส่ความเห็น