ฉบับเดือนมีนาคม 2565

คุณภาพชีวิตของคนไทยในยุคไร้พรมแดน (Quality of life Thai People in the Borderless Era)

10 ประเทศที่คนไทยอาศัยอยู่เยอะที่สุด

ช่วงนี้กระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ นั้นมาแรงชนิดเปิดกลุ่มได้ 2 วันก็มีสมาชิกอยู่ในกลุ่ม 5 แสนกว่าคน และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีชาวไทยสัญชาติไทยนับล้านคนอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ บางก็เป็นนักเรียน นักศึกษา บางคนก็ไปทำงานหาโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต จากสถิติของกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ในปี 2563 มีชาวไทยอาศัยอยู่ต่างแดนอย่างถูกกฎหมายจำนวน 1,276,546 คน และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 150,000 คนจากสถิติโดยประมาณที่ทางกระทรวงรายงานไว้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

แต่หากลงรายละเอียด จัดลำดับประเทศที่คนไทยอยู่เยอะที่สุด อันดับแรกเป็น #ทีมอเมริกา จำนวนเกือบ 500,000 คน ตามด้วย #ทีมออสเตรเลีย และ #ทีมญี่ปุ่น ตามลำดับ และที่เราคาดไม่ถึงเลยคือ #ทีมสวีเดน ที่มีสมาชิกคนไทยอาศัยอยู่มากติด 1 ใน 5 อันดับแรกด้วย

1.อเมริกา 488,000 คน
2.ออสเตรเลีย 100,856 คน
3.ญี่ปุน 86,666 คน
4.ไต้หวัน 82,608 คน
5.สวีเดน 74,101 คน
6.เยอรมัน 59,130 คน
7.สหราชอาณาจักร 45,884 คน
8.เกาหลีใต้ 32,861 คน
9.นอร์เวย์ 31,387 คน
10.อิสราเอล 26,641 คน

จำนวนคนไทยในต่างแดนทั้งหมด 1,276,546 คน

หมายเหตุ: 
นี่เป็นยอดประมาณการเฉพาะที่อาศัยอยู่นอกประเทศแบบถูกกฎหมายเท่านั้น
ตามฉบับรายงานล่าสุดแบบแยกประเทศ ‘สถิติจำนวนคนไทยในต่างประเทศ ประจำปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.)’  ที่ประกาศไว้ในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ

อ้างอิง : กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
https://image.mfa.go.th/mfa/0/zE6021nSnu/stat/stat05.pdf


10 สิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อม ก่อนไปต่างประเทศ

ข้อมูลควรรู้เพื่อการเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศ
ในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศแต่ละครั้งนั้น เราจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องอะไรบ้าง วันนี้เรามี 10 สิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนไปต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักท่องเที่ยวมือใหม่ที่กำลังจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ และเพื่อเป็นการเตือนย้ำให้กับนักเดินทางที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศแล้ว แต่อาจจะหลงลืมเตรียมสิ่งเหล่านี้ เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าจะมีอะไรที่ต้องเตรียมให้พร้อมบ้าง

1. พาสปอร์ต
สิ่งสำคัญอย่างแรกเลยที่เราต้องมี เวลาจะเดินทางออกนอกประเทศ นั่นก็คือ พาสปอร์ต ซึ่งทุกวันนี้การทำพาสปอร์ตก็ง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก ๆ เพราะสามารถลงทะเบียนล่วงหน้า จองคิวทำพาสปอร์ตได้ทางออนไลน์แล้ว 24 ชั่วโมง ทาง www.passport.in.th ส่วนคนที่มีพาสปอร์ตอยู่แล้วแต่สงสัยว่าอายุพาสปอร์ตจำเป็นต้องถึง 6 เดือนไหม ก่อนออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ขอบอกว่าการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ ในความเชื่อเดิม ๆ ว่าต้องมีอายุพาสปอร์ต 6 เดือนจึงจะเดินทางได้นั้น เพราะประเทศปลายทางจะเป็นผู้กำหนดว่าต้องการอายุพาสปอร์ตเท่าไหร่ ซึ่งก็แล้วแต่ประเทศ แต่ทางตรวจคนเข้าเมืองและสายการบินไม่มีข้อห้ามตรงนี้เลย เพราะสายการบินบางสายการบินอาจจะให้เซ็นข้อตกลงว่าจะรับผิดชอบค่าโดยสารเองกรณีที่ต้องส่งกลับ ประเทศที่มักจะต้องการอายุพาสปอร์ต 6 เดือนจะเป็นประเทศแถวบ้านเรานี่แหละ ได้แก่ มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ส่วนประเทศชั้นนำเช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ล้วนแต่ต้องการให้มีอายุพาสปอร์ตก่อนที่จะออกจากประเทศเขาก็พอ ด้านฮ่องกง มาเก๊า ทั้งสองที่ก็ต้องการแค่อายุพาสปอร์ตขาเข้าอย่างน้อย 1 เดือนเท่านั้น สรุปแล้วว่าไม่จำเป็นว่าต้องมีอายุพาสปอร์ต 6 เดือนจึงจะเดินทางได้

2. เช็คสภาพอากาศ
เวลาที่เราไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งเราไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศ เราจำเป็นต้องศึกษาสภาพอากาศของเมืองและประเทศที่เราจะไปให้ดีก่อน เพื่อเราจะได้เตรียมเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ หากเราไปเที่ยวในโซนประเทศที่เราทราบอยู่แล้วว่ามีสภาพอากาศไม่ต่างจากเรามากนัก เราก็ไม่ต้องเตรียมการมากนัก แต่ถ้าเราไปเที่ยวในประเทศโซนอเมริกาหรือยุโรป ที่มีอากาศแตกต่างมากในช่วงฤดูหนาวหรือใบไม้ผลิแตกต่างไปจากบ้านเรามากเราก็ต้องเช็คสภาพอากาศก่อนออกเดินทางสัก 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมการซื้อของใช้ที่จำเป็น

3. ภาษาการสื่อสาร
เมื่อถึงเวลาต้องไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์ใดก็ตาม อาจจะไปท่องเที่ยวหรือไปเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ การรู้ประโยคภาษาอังกฤษเพื่อเอาตัวรอดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และประโยคเด็ดที่สามารถช่วยให้คุณเอาตัวรอดเมื่อเวลาต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติเมื่ออยู่ต่างประเทศ เริ่มต้นง่าย ๆ ก็คือถามก่อนว่าเขาสามารถพูดหรือสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษบ้างได้หรือไม่ (Do you speak English?) โดยคุณอาจคาดหวังว่าคำตอบที่ได้รับกลับมาว่า “Yes, of course!” หรือ “A little bit” หรือ “Not at all!” ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางที่มีคนใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ แต่ในบางประเทศ คนท้องถิ่นบางคนอาจจะไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เลยก็ได้ และเมื่อเวลาอยู่ต่างประเทศ คุณอาจจะหลงทางหรือต้องการความช่วยเหลือจากชาวท้องถิ่น คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้โดยการพูดประโยคง่าย ๆ ว่า (Can you help me?)

4. เงิน
ปัจจัยสำคัญที่สุดของการเดินทางคือเงิน และการไปเที่ยวต่างประเทศก็จำเป็นต้องแลกเงินไว้ใช้จ่าย ฉะนั้นเราควรดูด้วยว่าประเทศปลายทางที่เราจะไปนั้นคือที่ไหน เงินบาทไม่ใช่ทุกประเทศจะยอมรับ และในหลายประเทศแม้ว่ายอมรับแลก แต่ก็อาจได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ดี เช่น ถ้าไปกลุ่มประเทศละติน หรือยุโรปตะวันออก การเอาเงินบาทไปแลกปลายทางมีความเสี่ยงที่จะหาแลกยาก หรืออัตราแย่มาก ถือเงินสหรัฐ เงินยูโรไปสะดวกกว่า รับแลกทุกที่ ซึ่งกรณีไม่ใช่เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียว ประเด็นคือหาแลกได้ หรือไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ถ้าไปในประเทศที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมไป เช่น สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เขารับแลกเงินไทยแน่นอน ดังนั้นก็ควรเตรียมตัวเรื่องเงินไว้ให้ดีด้วยล่ะ

5. ข้อมูลการท่องเที่ยว แผนที่ขนส่งมวลชน
ในบางประเทศที่มีระบบขนส่งมวลชนดีเลิศ จะช่วยกำหนดเวลาในการเดินทางระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี แต่ด้วยความที่สะดวกมาก ๆ ระบบการซื้อตั๋วที่เราไม่คุ้นเคยหรือเส้นทางที่มีมากมายหลายสายก็อาจทำให้สับสนได้เช่นกัน จึงควรวางแผนเส้นทางล่วงหน้าอย่างละเอียดเพื่อจะได้ไม่หลงทางให้เสียเวลา เสียอารมณ์ และการไปเที่ยวจะสนุกมากขึ้นเมื่อเรารู้ว่าที่นั่นมีอะไรเจ๋ง ๆ ให้ดูบ้างในช่วงที่จะไป เช่น มีงานเทศกาลประจำปี นิทรรศการพิเศษ มีโปรโมชั่นถูกสุด ๆ ช่วงวันหยุด มีแหล่งท่องเที่ยวหรือร้านอาหารน่าสนใจอยู่ใกล้ ๆ ในระยะเดินถึงหรือเปล่า บางสถานที่มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ติด ๆ กันเป็นโซน เรียกว่าไปที่เดียวได้ทั้งความหลากหลายและคุณภาพ ลองเจียดเวลามาหาข้อมูลสักนิดจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในความพลาดทีหลัง

6. อาหารการกิน
หลายคนที่อยากไปเที่ยวต่างประเทศ และพอมีโอกาสได้ไป ก็อยากจะลิ้มลองกับอาหารขึ้นชื่อของเมืองและประเทศนั้นที่ได้เดินทางไปแน่นอน อย่างเช่น ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องปลาดิบ ซาซิมิ เหลือเกินนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นก็จะเตรียมข้อมูลแล้วว่าต้องไปกินที่ร้านไหน ย่านไหนอร่อยที่สุด ส่วนเกาหลีที่ขึ้นชื่อก็คงจะเป็นซันนักจี (ปลาหมึกสด) ที่ต้องลองสักครั้งในชีวิตถ้าได้ไปที่เกาหลีใต้ และแอบกระซิบว่าย่านฮงแดเด็ดที่สุดเลยล่ะกับเมนูนี้

7. เสื้อผ้า
การเลือกเสื้อผ้าไปใส่ในต่างประเทศ ก็ต้องดูสภาพอากาศด้วยนะ หากไปช่วงที่อากาศร้อน เสื้อผ้าที่เราใส่เป็นประจำในเมืองไทยก็สามารถนำไปประยุกต์ใส่ได้ แต่ถ้าไปในหน้าฝนล่ะก็เตรียมซื้อร่มได้เลย ส่วนหน้าหนาวก็จะจัดเต็มได้หน่อย ทั้งเสื้อโค้ท ผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อไหมพรม สารพัดแฟชั่นที่จะเตรียมไปแต่งกันที่ต่างประเทศ เรียกได้ว่าจัดเต็มแบบไม่ต้องแคร์ใครได้เลยล่ะ ข้อแนะนำก็คือดูด้วยนะว่าเราเดินทางไปกี่วัน จะไปที่ไหนบ้าง ก็ขอให้เตรียมไปให้เหมาะพอดี

8. ที่พัก
แน่นอนว่าการที่เราจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ในกรณีที่ไปเที่ยวโดยที่ไม่ได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง หรือว่ามีใครที่รู้จักอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว เราก็ต้องจองที่พักไว้ และในการจองที่พักในต่างประเทศทุกวันนี้ก็สะดวกมาก ๆ เพราะมีหลากหลายเว็บไซต์ หลากหลายโรงแรมให้เลือกจองเต็มไปหมด ที่พักราคาถูกก็มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.traveloka.com ส่วนใครที่อยากจะรู้ลึกไปมากกว่าราคาที่พัก ก็สามารถหาดูรูปวิวที่พักต่าง ๆ ก่อนได้ ตามที่คนอื่นไปมาแล้ว แล้วเขามาแนะนำบอกต่อ ที่สำคัญก็ขอให้เลือกดูด้วยนะว่าที่พักปลอดภัยไหม อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า เดินทางสะดวกหรือไม่

9. ซิมการ์ดและอินเทอร์เน็ต
เมื่อไปต่างประเทศ สิ่งที่จะขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือซิมการ์ดโทรศัพท์ไว้ติดต่อสื่อสาร และอินเทอร์เน็ตเอาไว้อัพรูปชิค ๆ ลงในโซเชียล มาเที่ยวต่างประเทศทั้งที ก็อย่าลืมเก็บภาพบรรยากาศมาเยอะ ๆ และอย่าลืมถ่ายภาพตัวเองคู่กับสถานที่ต่าง ๆ ที่เดินทางไปด้วย

10. เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม
เหนือสิ่งอื่นใดสำคัญที่สุดก็คือร่างกายของเราว่าพร้อมแล้วหรือยัง เพราะถ้าหากเราป่วย หรือไม่สบาย ก็จะทำให้การเดินไปเที่ยวต่างประเทศของเรา ไม่สนุกเอาได้ แต่ถ้าร่างกายเราไม่ไหวจริง ๆ การไปเที่ยวต่างประเทศก็คงไม่สำคัญเท่ากับร่างกายแล้ว ฉะนั้นระหว่างที่จะเดินทางไปเที่ยวก็ควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดีด้วย

อ้างอิง : https://www.sanook.com/travel/1410529/


เตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจ ไปทำงานต่างประเทศ

ปัจจุบันการเดินทางไปทํางานต่างประเทศยังเป็นที่นิยมของแรงงานไทยเป็นจํานวนมาก และสามารถนํารายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจํานวนมหาศาล ในขณะที่ค่าจ้างภายในประเทศปรับสูงขึ้นมาก จนอาจทําให้การไปทํางานในต่างประเทศบางประเทศหรือบางตําแหน่งไม่คุ้มค่า ประกอบกับปัญหาการหลอกลวงคนหางานที่ยังคงมีอยู่ถึงแม้จะลดระดับความรุนแรงลง รวมทั้งปัญหาการจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายในอัตราสูง จนอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงานล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้ที่จะเดินทางไปทํางานต่างประเทศต้องตัดสินใจให้ดีถึงความคุ้มค่า ซึ่งการจะตัดสินใจได้จําเป็นที่คนหางานจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางไปทํางานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศที่ต้องการไปทํางาน และการเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจไปทํางาน

ปัจจัยที่ต้องตระหนักก่อนตัดสินใจไปทํางานต่างประเทศ ดังนี้
1.เรื่องสุขภาพ คนหางานต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจําตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อการทํางาน รวมทั้งสุขภาพจิตใจ ที่ต้องจากครอบครัวไปทํางานไกลๆ
2.อัตราค่าจ้างที่ได้รับ ในการไปทํางานต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับการทํางานในประเทศ รวมถึงการต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการไปทํางานต่างประเทศ รวมถึงการที่จะต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินที่กู้ยืมมาในแต่ละเดือน ว่ามีความคุ้มค่ากันหรือไม่
3.ต้นทุนทางสังคมที่ต้องจ่าย ซึ่งอยู่ในรูปของค่าเสียโอกาส เช่น การเสียโอกาสในการเลี้ยงดูอบรมลูก เป็นต้น
4.ทักษะฝีมือ ซึ่งจะเป็นที่ต้องการของนายจ้าง และจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าคนงานไร้ฝีมือ หรือกึ่งฝีมือ
5.ประวัติอาชญากรรม หากเคยมีประวัติการกระทําผิดต่างๆ โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปทํางานในต่างประเทศ

การเตรียมพร้อมทําอย่างไร
1. ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า งานในต่างประเทศมีจํานวนน้อย แต่คนหางานที่อยากไปทํางานมีจํานวนมาก จึงทําให้คนหางานยอมจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่แพง ส่วนงานระดับช่างฝีมือยังเป็นที่ต้องการของนายจ้างในต่างประเทศเป็นจํานวนมาก ซึ่งแรงงานช่างฝีมือจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าแรงงานกึ่งฝีมือ/ไร้ฝีมือ นายจ้างไม่ว่าประเทศใดย่อมต้องการคนงานที่มีฝีมือ ขยัน ซื่อสัตย์ สุขภาพแข็งแรง อายุไม่มาก หรือไม่น้อยเกินไป นายจ้างอาจกําหนดคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งงาน เช่น เพศ อายุ ส่วนสูง น้ํา หนัก หรือไม่ต้องการผู้ที่มีรอยสักตามตัว เป็นต้น
เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วจะได้เลิกเชื่อสายหรือนายหน้าจัดหางานที่มักจะบอกว่า “ใครวางเงินก่อนได้บินก่อน” ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหากคนหางานไม่มีคุณสมบัติตามที่นายจ้างต้องการก็ส่งไปไม่ได้ ซึ่งสายหรือนายหน้ามักจะให้สัญญาด้วยคําพูดว่า จะคืนเงินให้ หากไม่ได้ไปทํางาน ดังนั้นจึงควรขอหลักฐานการจ่ายเงินไว้เพื่อใช้ในกรณีที่ไม่ได้ไป คนหางานบางคนที่ขาดคุณสมบัติแล้วยังโชคร้ายถูกบริษัทจัดหางานที่ไม่มีความรับผิดชอบส่งไปทํางาน เมื่อทํางานไม่ได้ตามที่นายจ้างต้องการ ต้องยอมให้นายจ้างลดค่าจ้างหรือเปลี่ยนตําแหน่งไปทํางานอื่นที่ได้ค่าจ้างต่ำ กว่าที่ระบุในสัญญา เพราะไม่อยากถูกส่งกลับ

2. ต้องไม่เชื่อคําโฆษณาชักชวนจากทั้งตัวบุคคลและในสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีตําแหน่งงาน มีรายได้ดี ต้องตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนทุกครั้ง

3. ต้องรู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติตามที่นายจ้างต้องการหรือไม่ นายจ้างจะกําหนดคุณสมบัติของคนหางานไว้เพื่อให้เหมาะสมกับตําแหน่งสภาพการจ้างและการทํางาน เช่น เพศ อายุ ส่วนสูง น้ํา หนัก ระดับการศึกษา สุขภาพ เช่น กํา หนดโรคต้องห้ามไว้ ซึ่งคนหางานต้องรู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถตามที่นายจ้างต้องการหรือไม่ ส่วนเรื่องสุขภาพและฝีมือทางช่าง ต้องผ่านการตรวจสอบสุขภาพจากสถานพยาบาล และการทดสอบฝีมือจากสถานทดสอบฝีมือแรงงานที่กําหนด

4. ต้องรู้ว่าการไปทํางานต่างประเทศต้องทําตามสัญญาจ้าง สัญญาจ้าง คือ สัญญาระหว่างนายจ้างในต่างประเทศกับคนงาน สัญญาจ้างต้องมีชื่อและที่อยู่ของนายจ้างกับคนงานที่ตกลงทําสัญญาจ้างงานกัน สัญญาจ้างจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับตําแหน่งงานอัตราค่าจ้าง ระยะเวลาการจ้าง วัน เวลาทํา งาน วันหยุด ค่าล่วงเวลา ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการอื่นๆ

5. ต้องรู้วิธีการขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง วิธีการไปทํางานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายมี 5 วิธี คือ
1.บริษัทจัดหางานเอกชนจัดส่งไปทํางาน
2.กรมการจัดหางานจัดส่งไปทํางาน
3.คนหางานติดต่อทําสัญญาจ้างกับนายจ้างโดยตรง
4.บริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปทํางาน
5.บริษัทนายจ้างในประเทศไทยส่งไปฝึกงาน

เอกสารสําคัญที่ต้องใช้ในการเดินทางไปทํางานต่างประเทศ
1.ใบผ่านการตรวจโรค
2.หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
3.วีซ่า
4.สัญญาจ้างงาน
5.สัญญาจัดหางาน
6.ใบรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่าย
7.เอกสารอื่นที่จํา เป็น เช่น หนังสือรับรองการผ่านงาน เป็นต้น

อ้างอิง : https://www.kaiaridee.com/%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8.html


การช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ คนไทยไม่ทิ้งกัน

รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานไทย ไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่ที่ใดในโลก โดยสำหรับคนไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลและทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในแต่ละประเทศ เพื่อให้การคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน เพื่อให้มั่นใจว่า แรงงานไทยจะได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมี “กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” โดยแรงงานไทยที่ออกไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย สามารถเลือกเข้าเป็นสมาชิกกองทุนนี้ในอัตราค่าสมัครสมาชิก 300 – 500 บาทขึ้นอยู่กับประเทศที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงาน เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยกิจการที่จะใช้จ่ายจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 และระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 ดังนี้

  1. กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ จะช่วยให้สมาชิกกองทุนฯ ได้เดินทางกลับประเทศไทยจนถึงภูมิลำเนา โดยรัฐจะให้การช่วยเหลือค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
  2. กรณีประสบอันตรายหรือประสบอุบัติเหตุ ก่อนหรือขณะทำงานในต่างประเทศ รัฐจะให้การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
  3. กรณีต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพราะถูกเลิกจ้าง โดยมีสาเหตุจากการประสบอันตราย และเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในต่างประเทศ รัฐจะให้การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 15,000 บาท
  4. กรณีประสบอันตรายจนพิการหรือทุพพลภาพในระหว่างเป็นสมาชิกกองทุนฯ ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ รัฐให้การช่วยเหลือกรณีพิการคนละ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพคนละ 30,000 บาท
  5. กรณีประสบปัญหาในต่างประเทศ และอยู่ในระหว่างรอการเข้าทำงานใหม่ รอการส่งกลับไทย รอการดำเนินคดี หรือกรณีอื่นในลักษณะเดียวกัน รัฐจะให้การช่วยเหลือค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
  6. กรณีถูกส่งกลับ เนื่องจากแพทย์ตรวจพบเป็นโรคต้องห้าม รัฐจะให้การช่วยเหลือกรณีทำงานยังไม่ถึงหกเดือน คนละ 25,000 บาท ส่วนในกรณีที่ทำงานมากกว่าหกเดือน คนละ 15,000 บาท
  7. กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนฯ เนื่องจากเหตุความไม่สงบ ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด รัฐจะให้การช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท
  8. กรณีเสียชีวิต รัฐจะให้การช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศพตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท ในกรณีเสียชีวิตก่อนเดินทางหรือขณะกลับประเทศไทย 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ 40,000 บาท
  9. กรณีมีคดีความ กรณีถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดซึ่งมิใช่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาหรือประสงค์จะดำเนินคดีแพ่งกับนายจ้าง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน รัฐจะให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น กรณีลูกเรือประมงไทยในเรือประมง Wadani 1 จำนวน 4 คน ที่ไปตกทุกข์อยู่ที่โซมาเลีย และประสบปัญหานายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างครบตามสัญญาจ้างงาน กรณีนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากเจ้าของเรือคืนให้แรงงานทั้ง 4 คนได้ถึง 532,000 บาท อีกทั้งยังดำเนินคดีอาญาเทียบปรับนายจ้างที่ละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานด้วย

สรุปได้ว่า หากท่านใดประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ ควรดำเนินการผ่านนายหน้าและนายจ้างที่ถูกกฎหมาย และลงทะเบียนกับกรมการจัดหางาน รวมถึงเข้าร่วมกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ซึ่งอาจรวมถึงการค้ามนุษย์ด้วย อีกทั้งการมีรายชื่ออยู่ในระบบของทางราชการ จะทำให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

และไม่ว่าแรงงานไทยทั้งในไทยและในต่างประเทศจะประสบปัญหากรณีใดก็ตาม ท่านสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่

1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทั้ง 10 แห่งในกรุงเทพมหานคร และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดใน 76 จังหวัด หรือ โทรสายด่วน 1506 กด 3 ในวันและเวลาราชการ

2. ในกรณีตกทุกข์ในต่างประเทศ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศนั้น ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ติดต่อสายด่วนกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โทร 0 2572 8442 หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Consular ที่มีระบบโทรหากรมการกงสุลได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ทาง App Store ของ Apple และ Play Store สำหรับ โทรศัพท์ระบบ Android

รับชมประสบการณ์การรับความช่วยเหลือของลูกเรือ Wadani 1 ทั้ง 4 คน ได้ทางคลิปนี้

อ้างอิง : https://www.pmdu.go.th/help-thai-labour-word-aboard/

ใส่ความเห็น