ฉบับเดือนมิถุนายน 2565

หยุดการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ (Stop Human Trafficking)

ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย

ความไม่เท่าเทียมกันในมนุษย์ (Inequality of men) เป็นความจริงที่มีมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ เพศ เชื้อชาติ การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานะความเป็นอยู่ ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของฐานะความเป็นอยู่นี้เอง ที่นำไปสู่การมองข้ามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยกัน (Human dignity) เกิดการซื้อขายมนุษย์ด้วยกันเองเยี่ยงสินค้า การทารุณและการบังคับใช้แรงงานที่เกินขอบเขตของกฎหมาย การบังคับขู่เข็ญ ใช้อุบายล่อลวงเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันค้าประเวณี ต่าง ๆ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการกระทำที่เรียกว่าการค้ามนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกสังคม เชื้อชาติ ศาสนา แม้แต่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธอย่างประเทศไทย

การกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เป็นการกระทำผิดที่รุนแรงและมีความซับซ้อน ในบทความนี้จึงจะนำเสนอถึงปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย โดยนำข้อมูลจากรายงานวิจัย “การศึกษา วิเคราะห์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติกฎหมายของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก, เหนือ – ใต้ (EWEC – NSEC – SEC)” มานำเสนอสถานการณ์ค้ามนุษย์ในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าประเทศไทยมีสถานการณ์และแนวทางหรือมาตรการในประเด็นนี้อย่างไร

สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย
ประเทศไทยในอดีต ไม่ได้มีการกล่าวถึงลักษณะของปัญหาการค้ามนุษย์อย่างชัดเจน แต่มีสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างการค้ามนุษย์ในอดีต คือการมีทาสตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนสิ้นสุดเมื่อกลางยุครัตนโกสินทร์ ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และการเริ่มเข้ามาของหญิงชาวจีน ที่เข้ามาค้าประเวณีในสยามประเทศจนเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ต่อมาทางการได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ. 127 แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มีข้อมูลว่าหญิงที่เข้ามาค้าประเวณีในยุคนั้นเข้ามาด้วยความสมัครใจ หรือถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำการค้าประเวณีซึ่งถือเป็นลักษณะของการค้ามนุษย์หรือไม่
จนมาถึงในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์การค้ามนุษย์ (Human Trafficking) อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางคน เพราะไม่เห็นหรือปรากฏชัดเจนเหมือนอาชญากรรมอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก เพราะการดำเนินการนั้นทำเป็นขบวนการ มีเครือข่ายซับซ้อน ปกปิดยากต่อการตรวจสอบ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมาย หรือแม้กระทั้งบางกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิกเฉยหรือร่วมมือกับขบวนการค้ามนุษย์เพื่อหวังเอาเงินสินบน ความร้ายแรงของการค้ามนุษย์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติติดอันดับ 2 ของโลก รองจากการค้ายาเสพติด ถือเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายภายในและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งภาพลักษณ์และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถือได้ว่ามีปัญหาอย่างรุนแรงในเรื่องการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาการค้ามนุษย์ได้ถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตามรายงานการจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons (หรือ Tip) Report) ของสหรัฐอเมริกาประจำ ค.ศ. 2015 จัดลำดับให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 (Tier 3) เลื่อนลำดับจาก 4 ปีก่อนที่ไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 (Tier 2) เท่านั้น โดยที่กลุ่มเทียร์ 3 ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในด้านการค้ามนุษย์มากที่สุด ประเทศในกลุ่มนี้จะถูกมองว่าไม่มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ส่วนกลุ่มเทียร์ 2 ถือว่าเป็นกลุ่มที่ถึงแม้ยังมีปัญหาด้านการค้ามนุษย์อยู่และยังแก้ไขไม่ได้ แต่รัฐบาลยังมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยได้เพิ่มความพยายามดำเนินการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ และคดีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงดำเนินคดีและพิพากษานักค้ามนุษย์หลายร้อยคน อีกทั้งยังเริ่มสืบสวนคดีการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงหลายสิบคดี ตัวอย่างการดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในไทยเหล่านี้ ส่งผลให้ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาได้รายงานผลการจัดอันดับเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยเลื่อนไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 Watch list ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์มากขึ้น ในการนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีของประเทศไทยหลังจากการพยายามบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์

กรณีตัวอย่างปัญหาการค้ามนุษย์ที่พบในไทย
การถูกจัดอันดับทางด้านปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย ไม่ว่าจะเป็นเทียร์ 2 หรือเทียร์ 3 ก็สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศที่ยังไม่สามารถกำจัดไปได้อย่างสิ้นเชิง โดยสามารถสรุปกรณีปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยได้ดังนี้
การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี เป็นที่ทราบกันดีไม่เฉพาะชาวไทยแต่ยังรวมถึงต่างชาติที่ว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีโสเภณีจำนวนมาก ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานานก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยปัญหานี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาข้ามพรมแดนไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ขบวนการค้าประเวณีเดินทางไปอีกด้วย
การเอาคนลงเป็นทาส ตามที่สื่อมวลชนลงข่าวอยู่เสมอว่ามีการควบคุมคนไทยหรือต่างชาติในลักษณะเหมือนทาส แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลิกทาสมานับร้อยปีแล้วก็ตาม การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ทั้งปัญหาภายในประเทศที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องถือปฏิบัติต่อลูกจ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนหลายล้านคน ส่วนหนึ่งมีการทำงานอยู่บนเรือประมง ทำงานวันละประมาณ 18 ชั่วโมง หรือการอยู่บนเรือกลางทะเลนับปี เป็นต้น

การนำคนมาขอทาน ในกรณีนี้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมมานาน คือพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2484 แต่ก็ยังไม่สามารถปราบปรามการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำเด็ก หรือคนมาขอทานได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำคนต่างด้าวมาขอทานในประเทศไทย โดยนำมาจากกัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม และจีน มีการจ่ายค่านายหน้าให้ขบวนการค้ามนุษย์ในกรณีขอทาน ประมาณ 1,500 บาท ถึง 3,000 บาท ต่อคน เพื่อลักลอบเข้ามาทางชายแดน โดยเฉพาะชายแดนอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีรายงานใน พ.ศ. 2558 ว่ามีเหยื่อขอทานถึง 108 ราย ซึ่งขอทานดังกล่าวเป็นขอทานเด็กที่อาจมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การค้าประเวณีต่อไปในช่วงวัยรุ่นได้ ปัญหาเรื่องขอทานจึงยังคงเป็นประเด็นที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากพื้นฐานนิสัยคนไทยชอบบริจาคให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน

การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า เป็นปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับโดยตรงเหมือนกับกรณีอื่น ๆ ข้างต้น มีเพียงแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย หรือความผิดต่อชีวิต และการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551

การอุ้มบุญเพื่อการค้า เป็นอีกประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่กำลังถูกจับตามอง ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการอุ้มบุญ (Surrogacy) อย่างเหตุการณ์กรณีคู่สามีภริยาของชาวออสเตรเลียและญี่ปุ่น ที่มาจ้างหญิงไทยอุ้มบุญถึง 9 ราย มีทั้งใช้เฉพาะอสุจิ หรืออสุจิผสมไข่เป็นตัวอ่อนไปฝังที่หญิงชาวไทยผู้รับจ้างอุ้มบุญ กรณีนี้ถูกมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันมีกฎหมายที่ใช้บังคับโดยตรงในกรณีการอุ้มบุญคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558

ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยกมาข้างต้นทั้งหมดนั้น เป็นเพียงตัวอย่างของลักษณะและรูปแบบการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่เป็นกฎหมายใช้บังคับต่อการค้ามนุษย์โดยตรง อีกทั้งยังมีการประชุมทวิภาคีต่อประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ หรือเวียดนาม ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ค้ามนุษย์ของประเทศไทยจะดีขึ้น จากการเลื่อนชั้นลงมาจากเทียร์ 3 สู่เทียร์ 2 ถึงกระนั้นปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยก็ยังคงเป็นเรื่องที่สมควรต้องพิจารณาและวิเคราะห์แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “การศึกษา วิเคราะห์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติกฎหมายของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก, เหนือ – ใต้ (EWEC – NSEC – SEC)”

หัวหน้าโครงการ : รองศาสตราจารย์ ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล

สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย – Research Cafe’


การค้ามนุษย์คืออะไร? (What is Human Trafficking?)


ส่องรูปแบบ-วิธีการ “ค้ามนุษย์” ในไทย ใครมักตกเป็นเหยื่อ ?

จากประเด็นปัญหาเรื่อง “ค้ามนุษย์” เช่น แรงงานภาคประมงหรือการค้าประเวณีเด็ก ที่ถูกจุดฉนวนขึ้นจนเป็นกระแสสังคมในช่วงนี้ ล่าสุดรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกโรงชี้แจงว่ากำลังทุ่มเทในการแก้ปัญหานี้

1. รูปแบบการค้ามนุษย์

การค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน มีให้เห็นได้หลายรูปแบบ เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งไปที่การแสวงหาประโยชน์ทั้งงานบริการ สื่ออนาจาร หรือเกี่ยวกับเรื่องขูดรีดทรัพย์สิน ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ต้องรู้เท่าทันและป้องกันตัวเองให้ดี

  • นำมาแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี
  • เอาคนไปเป็นทาส หรือทำงานบริการเยี่ยงทาส
  • บังคับให้เป็นขอทานเพื่อหาเงินส่ง
  • ค้าอวัยวะมนุษย์
  • นำคนไปผลิต เผยแพร่ หรือใช้เป็นวัตถุสำหรับสื่อลามก-อนาจาร
  • ใช้ประโยชน์ทางเพศในแบบอื่นๆ 
  • การขูดรีดสมบัติหรือทรัพย์สินจากบุคคล

2. วิธีล่อลวงและกระบวนการค้ามนุษย์

การค้ามนุษย์” มีวิธีการล่อลวงคนในลักษณะดังนี้ ข่มขู่, ขู่เข็ญ,ใช้กำลัง, ลักพาตัว, หลอกลวง, ใช้อำนาจโดยมิชอบ, ครอบงำด้วยจุดอ่อนจุดด้อย และทำให้อยู่ในสภาวะขัดขืนไม่ได้

จากนั้นเมื่อได้ตัวคนมาแล้วจะเริ่มกระบวนการค้าขาย ดังนี้

  • เริ่มจากการจัดหาก่อน 
  • จากนั้นค่อยทำการแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย 
  • เมื่อตกลงกันแล้วจึงจำหน่ายคนที่ต้องการออกไป 
  • พามาส่งและกักขังเพื่อนำไปใช้งานต่อไป

3. บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ มักจะมีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความอ่อนแอ หรือมีปัญหาส่วนตัว แล้วมีลักษณะใดบ้าง ตามไปดูดังนี้

  • ผู้หญิง-ผู้สูงอายุ มักจะตกเป็นเหยื่อในเรื่องการขู่เอาทรัพย์สิน
  • เด็กหรือผู้เยาว์  ส่วนใหญ่จะตกเป็นเหยื่อการถ่ายทำสื่อลามก หรือถูกลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ 
  • บุคคลประเภทโลภมากหรือชอบเสเพล ก็สามารถตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้เช่นกัน เพราะคนประเภทนี้มักต้องการเงินไปใช้ในอบายมุข
  • คนที่มีปัญหาชีวิต คนประเภทนี้จะตกเป็นเครื่องมือทางอาชญากรรม
  • คนต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย ผู้มีปัญหาทางจิต คนจำพวกนี้มักถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพในการก่อเหตุต่างๆ

อ้างอิง : ส่องรูปแบบ-วิธีการ “ค้ามนุษย์” ในไทย ใครมักตกเป็นเหยื่อ? (bangkokbiznews.com)


[Thai PBS Infographic] รู้จักกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์

ใส่ความเห็น