เศรษฐกิจใหม่ วิถีใหม่ ทักษะใหม่ในโลกอนาคต (New economy, New Normal, New skill in the Future World)

ผลกระทบทางสังคมของการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่และมาตรการที่ควรมี
การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก่อให้เกิดความกังวลกับประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งความกังวลจากการติดโรคและความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่มีความต่างในหลายด้านจากระลอกแรก เริ่มจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่า กระจายไปหลายจังหวัดกว่า แต่ด้านมาตรการจำกัดการระบาดกลับมีความเข้มงวดน้อยกว่าทั้งในแง่จำนวนมาตรการและขนาดของพื้นที่ควบคุม และคาดว่าอาจจะผ่อนคลายเร็วกว่า

อีกทั้งประชาชนน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่กับการระบาดที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์เลยเหมือนเช่นการควบคุมในระลอกแรก ซึ่งคาดจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอยู่แล้วเพราะการระบาดระลอกใหม่มีแหล่งที่มาจากแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและมีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศตนเองเช่นพม่า และนำเชื้อเข้ามาประเทศไทย และมีความยากลำบากในการตรวจสอบและคุมเข้มเพราะไม่สามารถป้องกันด่านชายแดนธรรมชาติได้ทั้งหมด (จะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ) อีกทั้งพวกเขามีจำนวนมากและอยู่กันอย่างแออัด เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อระหว่างกันเองและไปสู่คนไทย ทำให้คาดว่าการระบาดระลอกสองคงไม่หมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนรอบแรก
ผลจากการระบาดที่น่าจะลากยาวนี้จะทำให้ยังต้องมีมาตรการควบคุมต่อเนื่อง แต่จะไม่คุมเข้มอย่างรอบที่แล้วและส่งผลให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเบาบางกว่า (เห็นได้จากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล มีขนาดเล็กกว่าระลอกแรกพอควร) อีกทั้งเศรษฐกิจภายนอกประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแสดงให้เห็นในตัวเลขการส่งออกที่ค่อนข้างดีตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจึงน่าจะน้อยกว่าระลอกแรกค่อนข้างมาก
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคจะดูดีกว่า แต่หากเจาะจงไปที่บางภาคเศรษฐกิจและบางกลุ่มประชากร ยังน่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่นภาคเศรษฐกิจที่ไม่เคยฟื้นตัวเลยเช่นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอยู่บ้างแต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด ง่อนแง่น และไม่มั่นคง เมื่อถูกกระทบอีกระลอกก็อาจทำให้ไม่สามารถรักษากิจการได้อีกต่อไป เป็นความเสี่ยงต่อเนื่องไปถึงคนที่ทำงานในภาคนี้ และแม้ในภาคอื่นที่สภาพการณ์ดีกว่าแต่ก็มีกิจการขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยที่สายป่านสั้น และเคยมีความหวังจะได้กลับมาทำธุรกิจหลังการระบาดระลอกแรกสงบลง ก็อาจเริ่มถอดใจและปิดกิจการในที่สุด ผลกระทบน่าจะเป็นลูกโซ่ไปสู่คนทำงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกเช่นกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการณ์ว่าการระบาดระลอกสองจะกระทบแรงงานจำนวน 4.7 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 1.1 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะตกงาน และอีก 3.6 ล้านคนมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า เงินออมโดยรวมที่เคยเพิ่มขึ้นหลังการระบาดระลอกแรก (ส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ) มีแนวโน้มลดลงท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจแสดงถึงความสามารถในการรองรับผลกระทบน้อยลงสำหรับประชาชนบางกลุ่ม
ผลทางเศรษฐกิจที่ลากยาวและรุนแรงสำหรับคนบางกลุ่ม จะส่งผลกระทบด้านสังคมที่จะตามมาอีกหลากหลาย โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง การศึกษาก่อนหน้า[1] พบว่า กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นตั้งแต่ระลอกแรก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หารายได้หลักในครอบครัวกลุ่มเปราะบางมักทำงานนอกระบบ ขาดความมั่นคงของการทำงานและรายได้เป็นปกติอยู่แล้วก่อนเกิดการระบาด จึงมักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกกระทบแรงในแง่การสูญเสียรายได้ ส่วนด้านสังคมก็ถูกกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่น เช่นเด็กในครอบครัวยากจนมีความสามารถในการเรียนรู้ออนไลน์น้อยกว่าเด็กฐานะดี ผู้ปกครองก็มีความพร้อมและความสามารถในการเรียนร่วมกับลูกน้อยกว่า คนแก่ที่มีโรคประจำตัวในครอบครัวเปราะบางก็เข้าถึงบริการทางการแพทย์ลดลงมากกว่า เป็นต้น
ข้อพิจารณาข้างต้นนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายประการ ประกอบด้วย
ประการที่หนึ่ง ควรเร่งศึกษาผลกระทบทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดระลอกสอง ทั้งความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ ทางเลือกของเขาเหล่านั้นในการปรับตัวว่ามีมากน้อยเพียงใด มาตรการของภาครัฐอะไรบ้างที่ช่วยเขาได้ มาตรการอะไรที่อาจช่วยเขาได้แต่เขาไม่ได้หรือยังไม่ได้ และเพราะเหตุใดจึงไม่ได้หรือได้ช้า เป็นต้น
ประการที่สอง รัฐบาล ‘ต้อง’ มีมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดแผลเป็น โดยควรเป็นมาตรการที่หลากหลาย เพิ่มเติมจากการให้เป็นเงิน เช่นการดูแลให้เข้าถึงบริการภาครัฐด้านต่าง ๆ เช่นการจ้างงาน การดูแลสุขภาพ การช่วยดูแลบุตรหลานให้เรียนรู้ออนไลน์ได้มากขึ้น การเข้าถึงบริการเหล่านี้ต้องเป็นไปโดยไม่ตกหล่น หรือควรเข้าถึงมากขึ้นกว่าในภาวะปกติด้วยซ้ำ การป้องกันการตกหล่นอาจใช้ทั้งกลไกภาครัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปในการแจ้งให้ภาครัฐทราบกรณีพบเห็นกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือและเยียวยา
ประการที่สาม ควรมีมาตรการเฝ้าระวัง (monitoring) การเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผลเป็นหมายถึงกิจการหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีโอกาสฟื้นตัวแม้การระบาดจะหายไป[2] ตัวอย่างเช่นเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีเงินทุนจะเริ่มกิจการใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างถาวรและไม่มีโอกาสได้รับการจ้างงานใหม่ เป็นต้น คาดว่ากลุ่มเหล่านี้จะทับซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่กล่าวถึง และเมื่อพบแผลเป็นเหล่านี้แล้ว ก็ต้องเร่งออกมาตรการในการบรรเทาความทุกข์ร้อนและประคับประคองให้เขาสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและฟื้นฟูทางสังคมควบคู่กันไป
ประการที่สี่ รัฐอาจควรพิจารณาให้วัคซีนกับกลุ่มเปราะบางเร็วกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเหตุผลว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงจากการขาดรายได้ได้มากนัก การได้รับวัคซีนก่อนจะมีผลทำให้ความเสี่ยงนี้ลดน้อยลง
ประการที่ห้า ในระยะยาว ประเทศไทยต้องทำการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคม (social protection) ที่คำนึงถึงการได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องและรุนแรงของกลุ่มเปราะบางและผู้ที่จะกลายเป็นแผลเป็นจากการระบาด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องการการออกแบบที่เหมาะสม ดังจะกล่าวถึงในบทความฉบับต่อไป
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
โควิดมา พาให้เกิด Disruption เราจะปรับตัวให้รอดในยุคนี้ได้อย่างไร?

จากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน และการทำงาน รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ในยุค Disruption มีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในอนาคต ?
จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี 2564 ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ ทำให้มีคนว่างงาน เกิดความยากจน และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงการเผชิญกับภาวะสังคมสูงอายุ (Aging society) ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เน้นการแก้ไขปัญหาภายในประเทศของตนเองมากกว่า ส่งผลให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์หมุนย้อนกลับ (Reverse globalization) นั่นเอง
เพื่อเร่งปรับตัวให้เท่าทันยุค Disruption สถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นหนึ่งในต้นทางสำคัญในการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการพลิกผันของโลก อีกทั้งกำลังแรงงานจะต้องถูกยกระดับ ปรับเปลี่ยน และพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ตนเองยังคงมี “คุณค่า” กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และตลาดแรงงานต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทางหรือเจาะจงมากขึ้น
และหากเราสามารถปรับตัวได้เท่าทันยุค Disruption แน่นอนว่าจะส่งผลต่อทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต แต่จะมีวิธีรับมือกับ Disruption อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!

ด้านการศึกษาเกิด Disruption ได้อย่างไร?
ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดกิจการลง การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบัณฑิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา โดยได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยอาจมีนักศึกษาจบใหม่ที่เสี่ยงว่างงานกว่า 500,000 คน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้มีตำแหน่งงานลดลง และทักษะที่มีไม่ตรงกับความต้องการตลาดงาน
นอกจากนี้ อัตราเด็กเกิดใหม่ยังลดลง เนื่องจากพ่อแม่ยุคใหม่เกิดภาวะไม่พร้อมสร้างครอบครัวจากพิษเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้การตัดสินใจเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลดลงตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการหดตัวลงของอุดมศึกษาในหลายประเทศ ส่วนปัญหาที่ตามมาหลังจากนี้นั้นก็คือ อาจขาดแรงงานในอนาคต และการผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูงให้เป็นไปตามกลไกของภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจโลกได้น้อยลง ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจำนวนเด็กอายุ 18 ปี ที่พร้อมจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของไทยได้ลดลงจาก 4.55 แสนคนเหลือ 3.66 แสนคน ในช่วงปี 2557 – 2562 และจะลดลงต่อไปอย่างช้า ๆ ในช่วงปี 2563 – 2573 ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหลังจากนั้น
ด้านการศึกษาต้องรับมืออย่างไร?
กำลังแรงงานจะต้องถูกยกระดับ ปรับเปลี่ยน และพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ตนเองยังคงมี “คุณค่า” กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และตลาดแรงงานต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทางหรือเจาะจงมากขึ้น ซึ่งจากระบบเดิมที่อุดมศึกษาของไทย เป็นการศึกษาที่มาจาก Supply-Side โดยเน้นการเรียนเพื่อรู้ (Learning to know) และ การเรียนเพื่อนำไปใช้งาน (Learning to do) เมื่อเกิดการ Disruption ในภาคอุตสาหกรรม ระบบอุดมศึกษาควรปรับตัวให้เป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์ Demand-Side โดยใช้หลักการเรียนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ (Learning to live together) และการเรียนเพื่อความเป็นพลเมืองโลก (Learning to be global citizen) ซึ่งตัวอย่างการปรับตัวเพื่อรับมือกับการถูก Disruption เช่น
การจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เป็นหลักสูตรการศึกษาในระบบและนอกระบบ และตามอัธยาศัยที่จัดให้แต่ละบุคคลในทุกช่วงอายุและสัมพันธ์กับวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งจะได้รับทักษะวิชาชีพ ความรู้เฉพาะด้าน การทำงานจริง แก้ปัญหาจริง เป็นการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตและการปรับตัวเข้ากับสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม
การใช้นวัตกรรมการศึกษาแบบทั่วถึงและเปิดกว้างในยุคดิจิทัล ที่เป็นแพลตฟอร์มการเรียนในรูปแบบออนไลน์ Massive Open Online Course (MOOC) ตัวอย่างเช่น Chula MOOC ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เวลา สถานที่ และศักยภาพในการรองรับผู้เรียนของสถาบันศึกษา และเพื่อความสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นการทำลายกำแพงความรู้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวิชาความรู้ที่มีคุณภาพ และน่าสนใจ ได้ทุกที่ทุกเวลา
การผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยจะให้ความสำคัญต่อการบูรณาการศาสตร์หลากหลายศาสตร์ หรือสาขาวิชา (Multidisciplinary) มากขึ้น และการเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติผ่านการทำงานจริง (Experience-Integrated Learning) รวมไปถึงการบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัล (Life Skills of Digital Society) และทักษะวิชาชีพ (Professional Skills) ที่มีความจำเป็นในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะหน่วยแยกเชิงผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ (Modular-based Learning Outcomes/Learning Results) และหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาทักษะการเรียนรู้รายบุคคล (Personalized Learning)
การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นทักษะการใช้ชีวิตและการทำงานยุคใหม่ คือ มีการสร้างความเข้าใจในส่วนลึก ให้สามารถปรับตัวในการทำงานและเข้ากับสังคมได้ เป็นคนที่มีความคิดที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์งานได้จากความรู้ในหลายด้าน มีความคิดเชิงประมวลผลหรือเชิงระบบ เข้าใจและตามทันโลกยุคสื่อดิจิทัล
การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นมุ่งสู่อาชีพ โดยต้องการให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพ เป็นผู้ประกอบการ หรือสร้างธุรกิจของตนเองได้หลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้ทฤษฎีและทักษะจากการฝึกปฏิบัติไปพร้อมเพรียงกัน

ด้านเศรษฐกิจเกิด Disruption ได้อย่างไร?
สาเหตุที่เกิดผลกระทบไปทั่วโลกนั่นก็คือการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่ง ไปจนถึงผู้บริโภค และมีความไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ นอกจากผลกระทบจาก Covid-19 แล้ว ยังรวมไปถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงภาวะสังคมสูงอายุ (Aging society) ซึ่งส่งผลต่อทักษะกำลังแรงงานที่มีไม่ตรงกับความต้องการตลาดงาน
ภาคธุรกิจต้องรับมืออย่างไร?
ต้องเร่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความต้องการในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ หรือการ Reskill และ Upskill ให้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน และการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการผลิตและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นต้น

Kill disruption หรือการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร?
จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศ ปี 2564 ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่อาจทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะสามารถ Kill disruption ได้คือ “การพัฒนากำลังคนให้พร้อมรับมือ” ซึ่ง อว. สอวช. และหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เองก็ได้ขับเคลื่อนหลากหลายนโยบาย และมาตรการต่างๆ อาทิ
จัดทำหลักสูตร Higher Education Sandbox
สร้างหลักสูตรจาก Demand Side เพื่อผลิตคนตามความต้องการของประเทศ ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก
จัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายประเทศเพื่อสร้างความเป็นเลิศตามความโดดเด่นของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย ดังนี้
1. กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก
2. กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
3. กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น
4. กลุ่มพัฒนาปัญญา และคุณธรรมด้วยหลักศาสนา
5. กลุ่มผลิต และพัฒนาบุคลากรวิชาชีพ และสาขาจำเพาะ
ปลดล็อคการจำกัดเวลาเรียนทั้งปริญญาตรี โท เอก ไม่จำกัดเวลาจบ
เรียนไป ทำงานไป บริหารเวลาและเพิ่มศักยภาพให้เก่งขึ้น
เปิดมิติใหม่ของอุดมศึกษา เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้
เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้กว่า 25 มหาวิทยาลัย เก็บหน่วยกิตได้ ร่วมกันพัฒนาความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใช้ทุนการศึกษาแทนการกู้ยืมเงิน ในสาขาวิชาที่ประเทศต้องการ
ไม่ต้องจ่ายเงินคืน หรือ จ่ายดอกเบี้ยในราคาต่ำกว่าปกติ เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เรียนเพื่อสร้าง “ไทย” ให้ทัน “โลก”

ต้อง RESKILL ให้พร้อม เพื่อสร้างทักษะใหม่
คือ การค้นหาทักษะใหม่ หรือความถนัดใหม่ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทันกระแสโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อาจจะสร้างทักษะเพื่อรองรับงานใหม่ๆ ที่มาจากพื้นฐานความรู้เดิม หรือแตกต่างจากงานที่ทำ ความรู้ที่เคยมี เพื่อค้นพบความถนัดใหม่ในตัวเอง
องค์กรสามารถนำทางสู่การ “ค้นพบทักษะใหม่” ได้อย่างไร?
สเตปที่ 1 – ต้องระบุทักษะที่ต้องการในโมเดลธุรกิจใหม่ให้ชัดเจน เพื่อปรับโครงสร้างภายในได้อย่างรวดเร็ว และคัดเลือกคนให้เหมาะกับงาน
สเตปที่ 2 – สร้างทักษะที่สำคัญสำหรับแผนพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อให้พนักงานปรับตัวได้ทัน ควรเน้นทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะด้านดิจิทัล, ทักษะการจัดการองค์ความรู้, ทักษะด้านอารมณ์ และการปรับตัว
สเตปที่ 3 – เปิดเส้นทางการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อปิดช่องโหว่ทักษะที่สำคัญ ต้องวางกลยุทธ์ในโครงสร้างพนักงาน เพื่อกำหนดทักษะที่เหมาะสมในการพัฒนาให้เหมาะสม และสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรมในรูปแบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วในการปรับตัว
สเตปที่ 4 – ทำแบบหลักการ “Agile” แบบองค์กรเล็ก นั่นก็คือ แนวคิดการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน ด้วยการทำงานร่วมกันเป็นทีมจากหลากหลายสายงาน (Cross-functional team) หรือไม่ได้แยกแผนกชัดเจน เพื่อลดความยุ่งยากในการดำเนินงาน

ต่อด้วยต้อง UPSKILL อยู่ตลอด เพื่อเสริมทักษะที่มี
คือ การเสริมทักษะตัวเองที่มีอยู่ให้เชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริงยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้นในการเข้าใจว่าสามารถทำสิ่งไหนได้ถนัดที่สุด และต้องสามารถปรับใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพื่อรองรับกับบริบทโลก และความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
องค์กรสามารถนำทางสู่การ “ส่งเสริมทักษะที่มี” ได้อย่างไร?
สเตปที่ 1 – วิเคราะห์เป้าหมายของแผนธุรกิจใหม่ เพื่อกำหนดทักษะใหม่ที่พนักงานต้องมีเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของแผนธุรกิจใหม่
สเตปที่ 2 – ประเมินทักษะของพนักงานที่มี และประเมินผลการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อรู้จักความถนัดของพนักงานแต่ละคน และส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สเตปที่ 3 – สร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือจากพนักงาน เพราะอาจเจอพนักงานบางกลุ่มที่อาจรู้สึกว่าไม่อยากพัฒนาอะไรแล้ว เพราะไม่อยากเหนื่อยเพิ่ม จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นผ่านวิสัยทัศน์ต่างๆ ว่าก้าวไปทางนี้แล้วจะเกิดผลดีนั่นเอง
สเตปที่ 4 – การจัดฝึกอบรมด้วยวิทยากรที่มีชื่อเสียงในด้านนั้นๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน และแรงจูงในในการพัฒนาทักษะของพนักงาน อาจเป็นการสอนออนไลน์ เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากของพนักงานได้

สรุปการรับมือทั้งด้านการศึกษา ด้านธุรกิจ และด้านกำลังคนในยุค Disruption
ด้านการศึกษา – ต้องรับมือกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลงในอนาคต พัฒนาหลักสูตรและคอร์สอบรมระยะสั้นออนไลน์ตอบโจทย์การ Reskill Upskill ให้เติบโต และผลิตกำลังคนให้มีทักษะสูงยิ่งขึ้นและตรงตามความต้องการ
ด้านธุรกิจ – ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่พนักงาน ส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนทั้งความก้าวหน้าในอาชีพ และเป็นองค์กรที่ทันสมัยอยู่ตลอด รวมถึงการร่วมมือกับภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญไปฝึกอบรม หรือการฝึกงานแบบมืออาชีพให้กับนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบให้มากขึ้นกว่าเดิม
ด้านกำลังคน – ต้องค้นหาทักษะใหม่ (Reskill) หรือความถนัดใหม่ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทันกระแสโลกปัจจุบัน รวมถึงเสริมทักษะตัวเองที่มีอยู่ (Upskill) ให้เชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการเรียนในรูปแบบออนไลน์ Massive Open Online Course (MOOC) ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา หลากหลายแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐให้เข้าไปเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น Thaimooc, Chula MOOC, Mahidol University Extension, Thammasat Next Gen Academy, CMU Lifelong Education เป็นต้น
ที่มา : สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ก้าวสำคัญสู่อนาคต
ทักษะดิจิทัลมีความสำคัญอย่างไร
ในปี 2021 นี้ แต่ละองค์กรนั้นมองหาบุคคลที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยองค์กรยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ถ้าคุณอยากเป็นที่ต้องการขององค์กรยุคใหม่แล้ว คุณจำเป็นจะต้องปรับตัวให้มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรนั้นๆ
จะเห็นได้ว่าทิศทางความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและองค์กรทางด้านเทคโนโลยีในปีหน้าเป็นต้นไป โดยเน้นการก้าวไปสู่ Cloud computing, Big data analytics, AI, Encryption ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์, IOTs การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ , กระบวนการผลิตเนื้อหา รูปภาพ และเสียง, อีคอมเมิร์สและการค้าในรูปแบบดิจิทัล, AR และ VR, Blockchain การที่เราจะก้าวทันความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องพึ่งทักษะด้านดิจิทัล

ทักษะดิจิทัล คืออะไร
ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) คือ ทักษะที่ใช้ในการทำงานในยุคปัจจุบันที่มนุษย์นั้นจำเป็นจะต้องพึ่งเทคโนโลยีในการทำงานในหลากหลายระดับ ซึ่งในยุคนี้มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเติบโต และเข้ามามีบทบาทในการทำงานและวิถีชีวิตของทุกคน โดยทักษะด้านดิจิทัลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้
1. เครื่องมือและเทคโนโลยี (Tools & Technologies) คือ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเครื่องมือที่เป็น Hardware หรือ Software ควรจะเข้าใจพื้นฐานในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ว่าทำงานอย่างไร
2. การค้นหาและการใช้งาน (Find & Use) คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป เช่น การอ้างอิง ให้ที่มา และลิขสิทธิ์ของข้อมูลที่นำมาใช้
3. การให้ความรู้และการเรียนรู้ (Teach & Learn) คือ การเรียนการสอนที่ผู้เรียนและผู้สอนจะต้องใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง
4. การสื่อสารและการร่วมมือ (Communication & Collaborate) คือ การเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันนั้นสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้ Google Doc , Zoom ในการประชุมทางไกลเป็นต้น
5. การสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Create & Innovate) คือ ทักษะในการสร้างเนื้อหาดิจิทัลและควรมีทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรมเพื่อสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ เป็นต้น
6. การยืนยันตัวตนและสวัสดิการ (Identity & Wellbeing) คือ ทักษะในการปกป้องข้อมูลของตัวเองก็สำคัญ เช่น รหัสผ่าน ,การดูแลปกป้องข้อมูลของผู้อื่นที่เราเป็นคนดูแล ,จรรยาบรรณในการใช้งาน เป็นต้น
ทักษะที่ดิจิทัลนำไปทำอะไรได้บ้าง ?
หากเรามีทักษะด้านดิจิทัลที่ครบถ้วนแล้วนั้น ย่อมส่งผลดีต่อการหางานและเพิ่มโอกาสในการทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำทางเทคโนโลยี จาก The Future of Jobs Report 2020 มีการจัดอันดับอาชีพที่จะมีความต้องการสูง ซึ่งจะเห็นได้ว่าความต้องการในการจ้างงานในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมากซึ่งผันตรงกับยุคดิจิทัลในตอนนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ “ข้อมูล” นั้นมีความสำคัญอย่างมาก องค์กรต่าง ๆ จึงต้องการคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี มาช่วยในการทำให้ข้อมูลที่มีอยู่มากมายนี้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยอาชีพที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ได้แก่
- นักวิเคราะห์ข้อมูล/ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ( Data Analyst/ Data Scientist)
- ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการตลาดดิจิทัล ( Digital Marketing and Strategy Specialist)
- ผู้เชี่ยวชาญด้านข้มูลขนาดใหญ่ (Big Data Specialist)
- ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร ( AI and Machine Learning Specialist)
- นักพัฒนาซอฟแวร์และแอปพลิเคชั่น (Software and Application Developers)
ที่มา : ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ก้าวสำคัญสู่อนาคต – True Digital Academy
Metaverse Economy โอกาสทางเศรษฐกิจโลกจริง-โลกเสมือน

Metaverse Economy จะเกิดขึ้นเป็นภาคต่อยอดของ digital economy ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้เร็วและแรงกว่า digital economy แบบเดิม หรือการแพร่กระจายของสื่อสังคมออนไลน์ social media เดิมที่ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในการพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศและหลายธุรกิจอุตสาหกรรม คาดว่าไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่ไทยมีความพร้อมในการเตรียมรับมือของกิจการต่าง ๆ ในระดับต่ำถึงปานกลาง ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และโครงสร้างพื้นฐานยังมีความพร้อมไม่มากนัก จะอยู่ในฐานะผู้ซื้อและผู้ใช้เทคโนโลยีต่อไป ไม่ใช่ในฐานะผู้ผลิต
แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์และสร้างนัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจ (Economic implications) ได้ Metaverse Economy คือ โอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาลจากโลกใหม่ที่หลอมรวม โลกจริง กับโลกเสมือนจริงผ่าน 3D virtual universe เกิดสิ่งที่เป็น Second Life ซึ่งจะเป็นการทดลองครั้งสำคัญของ Virtual Economics
นอกจากนี้จะเกิด Remote Work ขึ้นมากมาย เป็นโอกาสของธุรกิจ Home Stay กิจการอสังหาริมทรัพย์บางประเภทภาคท่องเที่ยวไทย และทำให้เกิด High Fidelity Mataverse ที่เป็น Open source tools สำหรับทุกคนในการสร้างสิ่งที่ฝันไว้และสามารถบันทึกไว้ใน Blockchain นำมาขายได้ผ่าน High Fidelity Community
การซื้อขายทางออนไลน์จะเปลี่ยนจากการเห็นเพียงข้อมูล รูปภาพหรือเสียง เป็นสามารถสัมผัสสินค้าหรือบริการได้ และจะมีการพัฒนาสินค้าในรูปของดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เทคโนโลยีเสมือนจริงจะทำให้ภาคผลิตลดต้นทุนมหาศาลจากการลองผิดลองถูก ความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงขึ้น
การเกิดขึ้นของ Metaverse จะเปลี่ยนแปลง Disrupt ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะมาแรง เร็ว และยาวนาน การพัฒนาขั้นสูงสุดของอินเทอร์เน็ตของ Metaverse 3 ของอินเทอร์เน็ต (Metaverse) เมื่อบวกเข้ากับ Quantum Computing จะไปไกลกว่าอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในมือถือ คอมพิวเตอร์หรือ IPad หรือ Laptop ด้วยเทคโนโลยี 5G (6G-7G จะตามมา)
ด้วยเทคโนโลยี VR, AR ด้วย Blockchian, NFTs, Machine learning (AI) ตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างพร้อมแล้วที่จะทำให้รอยต่อระหว่างโลกกายภาพกับโลกดิจิทัลเชื่อมต่อกันไร้รอยต่อ ไม่สะดุดหยุดชะงัก โครงสร้าง Metaverse เกี่ยวข้องกับกิจการทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนหนึ่งจากการผลิตสินค้าและการให้บริการใหม่ แต่ตลอดทั้งกระบวนการของโครงสร้างนี้จะ Disrupt กิจการเดิมตลาดแรงงานเดิมมากเช่นเดียวกัน
กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์เต็มที่ และมีการขยายตัวสูง คือ กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม 5G-6G ที่ให้บริการโครงข่ายมือถือและ fixed Broadband จะได้ประโยชน์เต็มที่ รวมทั้งกลุ่มสินค้าไอทีและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ธุรกิจฟินเทคและธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจบันเทิงและการทำงานเสมือนจริง
ในระยะยาวกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ กิจการค้าปลีกแบบเดิม ธุรกิจธนาคารและการลงทุนแบบเดิม ธุรกิจตัวแทนหรือคนกลางในภาคท่องเที่ยว ภาคการศึกษา บริการการเงินและการลงทุน ธุรกิจให้เช่าสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าการประชุมขนาดใหญ่ กิจการพลังงานแบบเดิม น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ อุปสงค์จะลดลงเรื่อย ๆ
ผลิตภัณฑ์และบริการหลายอย่างจะหายไปจากตลาดถูกแทนที่โดยสินค้าและบริการใหม่ ๆ จากผลของ Metaverse และ Quantum Computing ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบการเงิน การท่องเที่ยว ความบันเทิง ระบบทำงาน ยังคงทำหน้าที่ของมันแต่มีรูปโฉมใหม่ จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ความคุ้นชินใหม่
ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นหากการเข้าถึงต่างกันมาก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสถาบันและกฎระเบียบให้สนับสนุนการเติบโตและเข้าถึงอย่างเสมอภาค
ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตมนุษย์จะดีขึ้นก้าวกระโดดพร้อมกับเสรีภาพในการเลือกจะสูงขึ้นมาก
ตำแหน่งงานจำนวนมาก ๆ จะหายไปเช่นเดียวกับที่เราเกรงว่าระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และสมองกลอัจฉริยะจะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ เศรษฐกิจไหนหรือสังคมไหนไม่เตรียมรับมือให้ดีจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมรุนแรง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ ๆ Megaverse, Quantum computing จะทำให้เกิดงานและลักษณะงานใหม่ และตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา
เราสามารถทำงานจากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ในโลกโดยไม่ต้องเข้าไปสถานที่ทำงาน การลงทุนสำนักงานใหญ่โตจะเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น รูปแบบของการศึกษาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงไป การแพทย์ทางไกลจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ชีวิตโดยเฉลี่ยของมนุษยชาติควรยืนยาวขึ้น
การใช้พลังงานฟอสซิลดั้งเดิมเพื่อการเดินทาง ขนส่งของระบบเศรษฐกิจโลกจะลดลงมหาศาล การใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศหรือ Eco System ของ Metaverse จะเพิ่มขึ้นชัดเจน
จึงขอเสนอให้รัฐบาลเพิ่มงบลงทุนวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ และสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล ด้วยการปรับงบประมาณ 2565 ใหม่ และวางแผนงบปี 2566 ให้นำไปใช้ส่งเสริมงานวิจัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ ควรลงทุนวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์นาโน (Nano-Robot) พลิกโฉมวงการแพทย์ต่อสู้กับโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคต
ควรส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยศึกษาเรื่อง Micro and Nabo-robotic Technology for medical and Pharmaceutical Application ควรมีงบประมาณในการจัดหาหุ่นยนต์ใช้ติดตามผู้ป่วย เป็นหุ่นยนต์ที่แพทย์สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
ให้เกิดการหลอมรวม บูรณาการ และการทำงานแบบเครือข่าย มีการหลวมรวมของภาคเศรษฐกิจสำคัญและกิจการหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น หลอมรวมกิจการด้านโทรคมนาคม กับ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อสารมวลชน บูรณาการกันระหว่างธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมกับธุรกิจบริการการเงิน
กระบวนการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (Digitization) และเป็นโลกเสมือนจริง (Virtualization) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสร้างการเติบโตทางธุรกิจ 3 ประการคือ
1. การใช้ทรัพยากรเมื่อต้องการ (Resource on Demand) ภายใต้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) 2. การใช้ศักยภาพของบุคลากรเมื่อต้องการ (Talent on Demand) ในรูปแบบของแรงงานอิสระ 3. การแสวงหาความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเมื่อต้องการ (Intelligence on Demand) ผ่านทาง Crowds และ Cloud
เทคโนโลยีที่เป็นเสาหลักในยุค Digital Economy ประกอบด้วย Cyber Physical System,Cloud Computing ,Big Data Analytics,System Security,3D Printing ,Augmented Reality และหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นมาโดยมีพื้นฐานเลียนแบบร่างกายมนุษย์ หรือ Humanoid Robots การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Digital Economy จะอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นตัวนำ ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงาน รูปแบบกระบวนการทำงานและกลยุทธ์ รวมทั้งโครงสร้างองค์กรแตกต่างไปจากเดิม
ที่มา : Metaverse Economy โอกาสทางเศรษฐกิจโลกจริง-โลกเสมือน (prachachat.net)