เกษียณ…แซ่บ!
Happy Retirement Ageing Gracefully

6 สิ่งต้องเตรียม เพื่อวัยเกษียณ
เมื่อพูดถึงคำว่า “เกษียณอายุ” หลายคนอาจมองว่าเป็นการสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปจากชีวิต และไม่อาจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีความพร้อมและลองมองโลกในแง่ดีก็อาจพบว่าถึงเวลาแล้วที่คุณจะได้พักผ่อนและแสวงหาความสุขให้กับชีวิตได้อย่างเต็มที่เสียที เรามาดูแนวทางในการก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกัน
1. เตรียมใจ
ช่วงหลังเกษียณอายุจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม ตลอดจนฐานะทางการเงิน การเตรียมใจไว้ก่อนล่วงหน้าจะช่วยให้คุณสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในวัยเกษียณ
2. เตรียมกาย
เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งการมีสุขภาพดีย่อมหมายถึงการใช้เวลาที่เหลืออย่างมีประโยชน์ ลดการเป็นภาระผู้อื่น มีอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดี
3. เตรียมแผนการใช้เวลา
เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายได้อย่างมีเป้าหมาย รู้ว่าช่วงเวลาใดจะทำอะไร เช่น เวลาทำงานเวลา ตรวจสุขภาพ เวลาท่องเที่ยวพักผ่อน เวลาออกกำลังกาย และอื่นๆ
4. เตรียมครอบครัว
ความผูกพันในครอบครัวระหว่างสามีภรรยา หรือพ่อแม่ลูกเป็นเครื่องบ่งชี้ระดับหนึ่งว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีความเอื้ออาทรระหว่างกันช่วยดูแลซึ่งกันและกัน
5. เตรียมเพื่อน
รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนไว้ให้มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ เพื่อนเก่า เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน เพราะเพื่อนจะช่วยให้เกิดกำลังใจและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตมากขึ้น
6. เตรียมแผนการใช้เงิน
เพื่อให้คุณสามารถบริหารจัดการเงินก้อนสุดท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเตรียมความพร้อมทั้ง 6 ประการเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะหากคุณไม่มีการวางแผนหรือเตรียมความพร้อมใดๆคุณอาจต้องพบกับคำว่า “สายเกินไป” ที่จะเตรียมการในด้านต่างๆ เพื่อชีวิตหลังเกษียณได้อย่างทันท่วงที

ที่มา : https://wealthmeup.com/20-08-03-retirementplan/
ผู้สูงอายุ รู้ทัน 10 ข้อ ไม่ตกเป็นเหยื่อโกงออนไลน์

รู้ให้เท่าทันกลยุทธ์การโกง และวิธีป้องกันเหล่ามิจฉาชีพในโลกออนไลน์ หรือ สแกมเมอร์ (Scammer)ที่นิยมมุ่งเป้าหมายมาที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยทางโลกออนไลน์น้อยกว่าวัยอื่นๆ อีกทั้งยังมีความอ่อนไหว วิตกกังวล ทำให้หลงกลเป็นเหยื่อได้ง่าย
โลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักจะตกเป็นเหยื่อคนสำคัญของเหล่ามิจฉาชีพในโลกออนไลน์ ข้อมูลจาก FBI ได้เผยว่า การหลอกลวงผู้สูงอายุจากโลกอินเทอร์เน็ต ในปี 2022 เกิดการสูญเสียถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 84% จากปี 2021 ด้วยวัยที่ไม่คุ้นเคยกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากการใช้อินเทอร์เน็ต เวลาตกอยู่ในสถานการณ์จะตื่นตระหนก และเกิดความวิตกกังวลจากคำขู่ของเหล่าสแกมเมอร์ จนหลงกลเข้าสู่แผนการ และหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่งขึ้น
สแกมเมอร์ส่วนใหญ่ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก และผู้สูงอายุในบ้านที่เข้าถึงตัวได้ง่าย จนบางครั้งกลุ่มผู้สูงอายุจะถูกฉ้อโกงในเรื่องของการซื้อ-ขาย, หลอกโอนเงิน จวบจนแฮกข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่เสียหาย ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์, ชวนลงทุน และการชิงโชค ตามลำดับ โดยกระบวนการของกลุ่มสแกมเมอร์ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ นอกจากจะฉ้อโกงเงินแล้ว ยังสามารถนำเอาข้อมูลของเราไปหลอกลวงผู้อื่นได้โดยไม่รู้จบ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง
กลยุทธ์ที่เหล่าสแกมเมอร์นิยมใช้
เงินต่อเงิน : สแกมเมอร์จะชอบใช้กลอุบายรูปแบบการส่งเงินรางวัลจำนวนมาก หรือบัตรกำนัลพิเศษ โดยอ้างว่าเหยื่อเป็นผู้โชคดี โดยเป็นการส่งต่อเงินเพื่อเป็นค่าธรรมเนียม ในการนำมาแลกเปลี่ยนรางวัลที่จะได้ อาจมาในรูปแบบครั้งเดียวจบ หรือหลอกขยับยอดเงินของเหยื่อ เพียงเพราะเหยื่อที่เสียเงินไปแล้วอาจจะต้องการเงินกลับคืนมายอดเงินก็จะขยับขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
อ้างเป็นหน่วยงานรัฐ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม และภาษี : สแกมเมอร์ส่วนใหญ่จะอ้างว่าตนนั้นมาจากหน่วยงานราชการที่มีข้อมูลของคุณในมือ โดยอาจจะกล่าวหา คาดโทษ หรือการค้างชำระ หากเหยื่อไม่ยินยอมจ่ายค่าภาษีต่างๆ ตามกำหนด จะใช้กลยุทธ์ในการนำค่าปรับ หรือติดคุกเพื่อมาขู่เพื่อให้เกิดความหวาดระแวง
หลอกชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล : กลยุทธ์ที่ใช้บ่อยในหมู่สแกมเมอร์ โดยจะมาในรูปแบบการคนขายประกัน พนักงานแบงก์ โดยใช้การมอบข้อเสนอสุดพิเศษ หรือการร่วมลงทุนต่างๆ ที่ล่อตาล่อใจให้แก่เราให้หลงเชื่อได้ง่ายๆ
ข้อมูล เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักสำหรับกลุ่มสแกมเมอร์ ซึ่งไม่เพียงแต่ข้อมูลของเหยื่อแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังคนในครอบครัวได้ทั้งสิ้น เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในบ้าน จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และกระจายข้อมูลไปในวงกว้าง ทำให้การถูกมิจฉาชีพในโลกไซเบอร์ฉ้อโกงนั้นจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือไกลตัวอีกต่อไป การดูแล การสอน และให้ข้อมูลกับคนในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ
การให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ และคนในครอบครัวในเรื่องของการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล รหัสผ่าน และความปลอดภัยในโลกออนไลน์ สามารถลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของการถูกโจรกรรม ฉ้อโกงบนโลกอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น
วิธีป้องกันมิจฉาชีพในโลกออนไลน์
- ไม่ส่งเอกสาร หรือบอกข้อมูลส่วนตัว รหัสผ่าน ให้แก่คู่สายในโทรศัพท์ หรือแชตออนไลน์ต่างๆ
- ไม่ป้อนข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลสำคัญลงบนแพลตฟอร์มที่ไม่รู้จัก หรือน่าสงสัย
- ไม่กดลิงก์ที่ไม่รู้จักในโลกออนไลน์ และอีเมล
- ตั้งสติก่อนกระทำการใดๆ ที่สุ่มเสี่ยง
- ปรึกษาคนรอบข้าง และคนในครอบครัว
- การซื้อของ บนโลกอินเทอร์เน็ต ควรตรวจสอบข้อมูลผู้ขายอย่างถี่ถ้วน
- ติดตั้งแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ
- ติดตั้งแอปพลิเคชัน ที่ใช้สำหรับช่วยเหลือ และตรวจสอบ
- เปิดใช้การล็อกอิน 2 ชั้น
- ออกห่าง และไม่สนทนากับคนที่ไม่รู้จักในโลกออนไลน์
ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2715383#google_vignette